Monday, April 27, 2020

รวม Link บทความใน blog นี้






รูนส์ ศาสตร์แห่งเทพพยากรณ์


รูนส์กับคุรุเทพ


การใช้รูนส์


รู้จักรูนส์ทีละตัวอักษร 1


รู้จักรูนส์ทีละตัวอักษร 2


รู้จักรูนส์ทีละตัวอักษร 3


จอมเทพโอดิน


การใช้เทพพยากรณ์ 2


แนะนำอติเทวปกรณ์


เทพพยากรณ์กับสัจธรรม


มหาเทวีเฟรยา


ศาสนาดั้งเดิมของชาวนอร์ส


พิธีกรรมในศาสนาอาซาทรู


การบูชาโอดินและเฟรยา 1


การบูชาโอดินและเฟรยา 2


นอร์สและไวกิ้ง


การฟื้นฟูอาซาทรู


แดนสวรรค์ในศาสนาอาซาทรู


คติการสร้างโลกในอาซาทรู


วันสิ้นโลก


แนะนำหนังไวกิ้ง


แหวนวิเศษ


เบวูล์ฟ



วัลคีรีส์


มหาเทพธอร์


มหาเทพกับอักษรรูนส์


ไขปริศนาโอดิน


ของวิเศษในเทพนิยายอาซาทรู


วัตถุมงคลและเครื่องบูชา


ซาตาน ลูซิเฟอร์ ลิลิธ


เพนธีซิเลีย ราชินีแห่งอเมซอน


มังกร และ กริฟฟิน


แอตแลนติส : จากตำนานสู่ความจริง


มหาเทวีเฟรยา พระเทวีฟริกกา


ยันต์ และ เครื่องรางไวกิ้ง

http://runesdivinator.blogspot.com/2018/06/blog-post.html

สรรพสัตว์ในเทพนิยายไวกิ้ง


จอมอสุรี ในไสยเวทกรีก-โรมัน


ความเพี้ยนของไวกิ้งยุคใหม่


เทววิทยาของ จอมเทพโอดิน และ มหาเทวีเฟรยา


มหาเทวีเฟรยา และ มหาเทวีอธีนา ที่ผมได้พบเห็น


จตุรเทพแห่งอาซาทรู


พลังลี้ลับของภาพเปลือย



...................................

หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด

Tuesday, October 8, 2019

พลังลี้ลับของภาพเปลือย





ความนิยมของศิลปะตะวันตก ในเรื่องของภาพเปลือย (Nude) ที่เป็นรูปวาด และประติมากรรมนั้น มีมาตั้งแต่ยุคกรีก-โรมัน

นักวิชาการอธิบายว่า เกิดจากความชื่นชมในความงามตามธรรมชาติของร่างกายมนุษย์ครับ

และเพราะเหตุนั้น ศิลปินกรีก-โรมัน จึงนิยมทำรูปเปลือยของผู้ชาย เพราะในยุคนั้น ผู้ชายได้ออกกำลังด้วยการเล่นกีฬา และฝีกฝนศิลปะการต่อสู้ จึงมีรูปร่างที่ได้สัดส่วนมากกว่าผู้หญิง

แต่ในทางมายาศาสตร์ ภาพเปลือยของผู้หญิง จะทำให้เกิดกระแสพลังของความอุดมสมบูรณ์ (Fertility) มากกว่า ซึ่งเป็นสิ่งที่ค้นพบกันมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์

ความรู้เหล่านี้ สืบทอดกันมาในโลกตะวันตก แม้จะมิได้เป็นการทำรูปเคารพ หรือเกี่ยวข้องกับเวทมนต์คาถาอีกต่อไปแล้ว

ทั้งศิลปินและชนชั้นสูง ก็ยังคงชื่นชอบรูปวาด และประติมากรรมเหล่านี้ อย่างไม่รู้สึกตัว ว่า เมื่อนำมาจัดวางไว้ในห้องรับแขก หรือพระราชวัง นอกจากจะทำให้เกิดความสวยงาม และการแสดงออกถึงรสนิยมที่สูงแล้ว มันยังได้มอบพลังลี้ลับที่ช่วย “เสริมบารมี” เช่นเดียวกับศิลปะและวัตถุมงคลที่ใช้ในศาสตร์ฮวงจุ้ยของจีนด้วย

ซี่งภาพวาด และประติมากรรมแต่ละชิ้น ก็จะให้กระแสพลังที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับ

1. เรื่องราวที่นำเสนอ

2. ความงามได้สัดส่วนของสรีระ

3. ความโดดเด่น อันเกิดจากความสว่าง แสงเงา โทนสีที่ใช้

และสำคัญที่สุด คิอ ความเนี้ยบของชิ้นงานครับ

โดยเฉพาะ งานศิลป์ที่มีกระแสพลังในด้านนี้สูงสุด คือรูปวาด และประติมากรรมที่เกี่ยวข้องกับ มหาเทวีอโฟรดิตี (Αφροδίτη) ของกรีก หรือ พระเทวีเวนุส (Venus : ทั่วไปอ่านว่า วีนัส) ของโรมัน
         
พระนางทรงเป็นเทวีแห่งความงามครับ ศิลปินตะวันตกจึงมักจะวาดภาพพระนางเป็นภาพเปลือย ในเหตุการณณ์ต่างๆ

เช่ย เทวกำเนิด หรือ The Birth of Venus ก็เป็นหัวข้อหนึ่งที่ได้รับความนิยมกันมาก

เพราะในเทพนิยายนั้น พระนางทรงถือกำเนิดจากฟองคลื่นในมหาสมุทร ซึ่งในทางมายาศาสตร์ น้ำนั้นเป็นสื่อของคงามอุดมสมบูรณ์อยู่แล้ว

สาวเปลือยกับน้ำ เป็นอะไรที่เข้ากันอย่างไม่อาจปฏิเสธ ศิลปินแต่ละคนจีงสามารถประชันความคิดและฝีมือกันด้วยภาพเช่นนี้ละครับ




ดังเช่นภาพนี้ ซึ่งเป็นฝีมือของ วิลเลียม-อดอล์ฟ บูเกอโร (William-Adolphe Bouguereau) ศิลปินชั้นแถวหน้าในยุควิคตอเรียน วาดภาพนี้ไว้เมื่อปี 1879 เป็นภาพกำเนิดมหาเทวีอโฟรดิตีที่ยอดเยี่ยมภาพหนึ่งจนกระทั่งทุกวันนี้

The Toilet of Venus ก็เป็นอีกหัวข้อยอดนิยม ที่ศิลปินยุโรปนำมาประชันฝีมือกัน โดยมี ฟรองซัวส์ บูเชร์ (François Boucher) แห่งราชสำนักพระเจ้าหยุยส์ที่ 13 ของฝรั่งเศส เป็นผู้ที่สร้างผลงานที่ดีที่สุดไว้




คำว่า Toilet ในที่พำนักของชนชั้นสูงสมัยก่อน หมายถึงห้องอาบน้ำ และห้องแต่งตัวที่รวมเป็นชุดเดียวกับห้องนอน ภาพประเภทนี้จึงทำให้เกิดบรรยากาศอันสุขสบาย ที่มีความเป็นส่วนตัว แตกต่างกับ The Birth of Venus  แม้ว่ามันจะถูกติดตั้งในห้องรับแขกก็ตาม

ภาพที่สวยงามจากเรื่องราวอื่นๆของ มหาเทวีอโฟรดิตี เช่น The Athenaeum-The Awakening of Venus โดย Charles-Joseph Natoire




ก็โดดเด่นด้วยความงามอย่างอ่อนหวาน และสภาพแวดล้อมที่น่ารื่นรมย์ ผ่อนคลาย ทั้งสองสิ่งนี้จะทำให้เกิดพลังในรูปแบบเดียวกัน ทั้งกับผู้ครอบครอง และสถานที่ที่มันจัดแสดงอยู่

ส่วนในด้านของประติมากรรมเปลือยของมหาเทวีอโฟรดิตีนั้น แม้จะนิยมทำกันทั่วไป

แต่ที่มี "พลังแฝง" ในด้านของความอุดมสมบูรณ์อย่างชัดเจนที่สุด คือชิ้นที่ได้รับการขนานนามว่า Kallipygos (มาจากภาษากรีก ΚΑΛΛΟΣ/kallos-beautiful, ΠΥΓΟΣ/pyge-buttocks)




ผมคงไม่ต้องอธิบายนะครับ ว่าได้ฉายาดังกล่าวมาเพราะอะไร

และประติมากรรมชิ้นนี้ก็เก่าแก่มากครับ คือเป็นฝีมือช่างโรมันช่วงศตวรรษทึ่ 1 ก่อนคริสตกาล ที่ copy จากต้นแบบของกรีก ที่เป็นงานสำริดยุค 300 ปีก่อนคริสตกาล

ความนิยมในการทำรูปเปลือยเช่นนี้ แม้จะต่อเนื่องไปถึงเทพนารีอื่นๆ ด้วย แต่ก็มิได้ทำให้เกิดพลังใดๆ เท่ากับมหาเทวีอโฟรดิตีหรอกครับ

เว้นเสียแต่ว่า จะเป็นภาพชุดของนางฟ้า 3 องค์ หรือ The Three Graces

เทพธิดาทั้งสาม คือ อาเกลีย (Aglaea) ยูโฟรซีน (Euphrosyne) และ ธาเลีย (Thalia) เป็นตัวแทนของความงาม เสน่หา และความสร้างสรรค์ ซึ่งในคติโรมันเรียกรวมๆ ว่า กราติอี (Gratiae)

ซึ่งในแง่ของพลังแห่งความอุดมสมบูรณ์ที่บังเกิด ก็อาจส่งผลที่จำเพาะเจาะจงในบางเรื่อง โดยที่ศิลปินเองก็คิดไม่ถึงได้นะครับ




ตัวอย่างเช่น The Three Graces โดย Carle Van Leo, (1705-1765)

เป็น The Three Graces ที่ดูอ่อนเยาว์ สดใส อย่างที่หาผลงานของศิลปินท่านอื่นเทียบได้ยาก ซึ่งจะทำให้เกิดพลังที่ดีแกหญิงสาวที่เพิ่งแต่งงานใหม่ๆ รวมถึงเด็กสาววัยรุ่นอย่างแน่นอน

หรืออาจจะเป็นสื่อแห่งพลัง ที่เสริมวาสนาบารมีของสตรีสูงศักดิ์วัยผู้ใหญ่ เช่น Juno attired by the Graces




ซึ่งรังสรรค์โดยจิตรกรอิตาเลียน อันเดรอา อัปปิยานี (Andrea Appiani)

ภาพนี้สวยมากครับ เป็นภาพ พระเทวีฮีรา (Hera/Ήρα) ผู้ทรงเป็นมหาเทวีสูงสุดแห่งโอลิมปัส (Olympus) และทรงมีพระนามในคติโรมันว่า จูโน (Juno)

ตามลัทธิศาสนากรีก นับถือพระเทวีฮีราในฐานะผู้ทรงอุปถัมภ์ ควบคุมดูแล และปกปักรักษาในทุกมิติของผู้หญิงครับ

ส่วนในทางประติมากรรม ไม่มีผลงานใดดีเยี่ยมไปกว่าของ อันโตนิโอ คาโนวา (Antonio Canova 1757–1822)




ศิลปินยุคนีโอคลาสสิค (Neoclassical) ชาวอิตาเลียน ซึ่งเป็นประติมากรที่รังสรรค์รูปเทพเจ้า เทพธิดา และเรื่องราวจากเทพนิยายกรีกโบราณ ออกมาเป็นงานแกะสลักหินอ่อนได้สวยที่สุด

ที่ได้ยกตัวอย่างมานี้ เป็นรูปวาด และประติมากรรมเปลือยของสตรีเพศเท่านั้น

ถ้าเป็นภาพของคู่รักวัยหนุ่มสาว ก็จะยิ่งเสริมพลังแห่งความอุดมสมบูรณ์มากขึ้นไปอีก รวมทั้งยังเป็นหนทางเดียว ที่ภาพเปลือยของผู้ชายจะมีบทบาทในด้านนี้ได้

แต่ก็มีเงื่อนไขว่า ความเด่นในสรีระของทั้งคู่จะต้องเท่ากัน และทำได้อย่างสวยงาม พอเหมาะพอดีนะครับ

โดยเฉพาะ รูปภาพของกามเทพ หรือ คิวปิด (Cupid พระนามภาษากรีกว่า เอโรส Eros/Έρως) กับชายา คือ ไซคี (Psyche อ่านแบบกรีกว่า ซือคี Ψυχή) 

ในเทพนิยายเล่าว่า ทั้งสองถูกมหาเทวีอโฟรดิตีขัดขวางมิใช่น้อย แต่ในที่สุดก็ได้ครองรักกันตลอดไป

เรามักจะคุ้นกับภาพคิวปิด ที่เป็นเด็กทารกมีปีก แต่ในเทววิทยากรีก-โรมัน คิวปิดโตเป็นหนุ่มแล้ว

ภาพคิวปิดและไซคี ที่วาดหรือแกะสลักอย่างถูกต้อง ตามแบบแผนของกรีก-โรมัน จึงเป็นสื่อของพลังด้านเมตตามหานิยมที่ชัดเจน อีกทั้งในอดีตยังมีผู้เชื่อว่า ช่วยผ่อนปรนชะตากรรมของคู่รัก ที่ถูกผู้ใหญ่กีดกันได้ด้วยครับ

ขณะที่คิวปิดวัยทารก เช่นในภาพมหาเทวีอโฟรดิตี ทั้งของบูเชร์และบูเกอโรนั้น ไม่มีผลใดๆ ทั้งสิ้น




ซึ่งภาพแห่งความรักที่สวยงาม ของ คิวปิดและไซคี  เช่นภาพนี้ L'Amour et Psyché,1899 โดย วิลเลียม-อดอล์ฟ บูเกอโร (ที่ผมกล่าวถึงไปแล้วใน The Birth of Venus) น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดในทุกๆ เงื่อนไข ตามที่ผมอธิบายไปแล้วได้

ขณะที่อีกภาพหนึ่ง ซึ่งมีชื่อเสียงยิ่งกว่า คือ




ซึ่งเป็นผลงานของ ฟรองซัวส์ เชราร์ด์ (François Gérard) กลับมีพลังที่ “อ่อน” มากในด้านมายาศาสตร์ ก็เพราะสรีระของฝ่ายชายชิงความโดดเด่นไปหมด

และภาพคู่รักดังที่กล่าวมานี้ ถ้าเป็นศิลปะในเชิงกามวิสัย (Erotic Art) ก็จะถึงระดับสูงสุด ของพลังแห่งความอุดมสมบูรณ์ เหนือกว่าภาพเปลือยของสตรีเพศด้วยซ้ำไปครับ

แต่งานศิลป์ที่ทำได้ถึงขั้นนี้ หายากมาก เพราะยังคงต้องอยู่ในเงื่อนไขของดุลยภาพในเรื่องของสรีระ ความสวยงาม และความพอดี

ซึ่งในทางจิตรกรรม ผมยังไม่เคยเห็นนะครับ

ส่วนประติมากรรม ที่เป็นตัวอย่างอันดีที่สุดในเรื่องนี้ เห็นจะไม่มีที่ใดเหนือไปกว่า Cupid and Psyche, 1786-93 ฝีมือสุดยอดประติมากร อันโตนิโอ คาโนวา คนเดียวกับที่รังสรรค์ The Three Graces ได้อย่างยอดเยี่ยมที่สุดนั่นเอง




โดยเราจะเห็นว่า เป็นการแสดงออกในด้านกามารมณ์อย่างอ่อนหวาน นุ่มนวล จนแทบไม่ทำให้ผู้ชมเกิดราคะจริตใดๆ แต่พลังแห่งความอุดมสมบูรณ์นั้นเต็มที่ครับ

หากแต่ในทางตรงกันข้าม, รูปเปลือยของผู้ชายสองคนที่อยู่ด้วยกัน โดยปราศจากผู้หญิง จะไม่ทำให้เกิดพลังแห่งความอุดมสมบูรณ์ใดๆ เลยแม้แต่น้อย

แล้วถ้ามีการแสดงออกในลักษณะของรักร่วมเพศ ไม่ว่าจะทำได้ดีจนนักวิจารณ์ศิลปะยกย่องกันแค่ไหน ก็กลับจะยิ่งมีผลในการ “ทำลาย” พลังแห่งความอุดมสมบูรณ์ไปจนหมดสิ้น

เพราะชายรักชาย ไม่ทำให้เกิดการสืบทอดเผ่าพันธุ์ อันเป็นหัวใจสำคัญของพลังแห่งความอุดมสมบูรณ์ไงครับ

ดังนั้น การแสดงออกทางกามวิสัยของชายรักชาย จึงเป็น “ขั้วตรงข้าม” กับพลังแห่งความอุดมสมบูรณ์ ในทุกศาสตร์ที่สืบทอดมาแต่โบราณ

ขณะที่งานศิลป์ที่เกี่ยวข้องกับการแสดงความรักของหญิงรักหญิง เช่นภาพนี้ La Nymphe Callisto, séduite par Jupiter sous les traits de Diane ปี 1759 ของ ฟรองซัวส์ บูเชร์ (ซึ่งอันที่จริงคนหนึ่งก็เป็นผู้ชายที่แปลงร่างมา)




แม้จะไม่ทำให้เกิดการสืบทอดเผ่าพันธุ์เช่นเดียวกัน แต่ถึงอย่างไร สาวเปลือยก็ยังคงเป็นสื่อของพลังแห่งความอุดมสมบูรณ์ จึงไม่มีผลเสียในเรื่องนี้อย่างชายรักชาย

ส่วนจีน ซึ่งมีภูมิปัญญาในเรื่องของศาสตร์ฮวงจุ้ย มากกว่าชนชาติใดๆ นั้น กลับไม่มีการใช้รูปวาด และประติมากรรมเปลือย

เพราะจีนมองว่า เป็นเรื่องของความป่าเถื่อนครับ

อีกอย่าง จีนวัดพลังแห่งความอุดมสมบูรณ์จากการที่มีลูกเต็มบ้าน หลานเต็มเมือง คือมองนัยยะทางเศรษฐกิจและสังคมในแง่ของ Prosperity มากกว่า Fertility จึงนิยมใช้ภาพเด็กแทน

และเพราะเหตุนั้น ภาพกามเทพวัยเด็ก ที่เราเห็นเกลื่อนกลาดในศิลปะตะวันตก อย่างน้อยก็อาจจะมีประโยชน์ในทางฮวงจุ้ยของจีนครับ



……………………………


หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด



Wednesday, October 2, 2019

จตุรเทพแห่งอาซาทรู





นอกเหนือไปจาก จอมเทพโอดิน มหาเทวีเฟรยา และ มหาเทพธอร์ ซึ่งผมได้กล่าวถึงไปแล้วใน blog เดียวกันนี้

ก็ยังมีเทพองค์สำคัญอีก 4 องค์ ที่ชาวนอร์สบูชากันมาตั้งอต่ยุคไวกิ้ง และกลับมาได้รับความนิยมกันอีกครั้งหนึ่ง ในปัจจุบันนี้ครับ

พระนามของเทพทั้งสี่ ผมเขียนแบบ Old Norse ไม่เหมือนกับในหนังสือ หรือสื่อทั่วไป

จะเป็นองค์ใดกันบ้าง ขอลำดับตามความนิยมดังนี้ครับ




มหาเทพเฟรย์ (Freyr)

เทพแห่งแสงอาทิตย์ และอากาศอันอบอุ่น

โอรสของ เทพบดีเยิร์ท (Njörd) กับ เทวีเนียร์ธุส (Nerthus) แห่งวานาไฮม์ (Vanaheim)

และทรงเป็นพระเชษฐาของ มหาเทวีเฟรยา (Freya)

เทพบดีเยิร์ท ทรงเป็นเทพแห่งฤดูร้อนและสายลม ในขณะเดียวกับที่ทรงเป็นจ้าวสมุทรที่ชาวไวกิ้งนับถือกันมาก

ส่วนเทวีเนียร์ธุส ทรงเป็นเทพมารดรผู้ยิ่งใหญ่องค์หนึ่ง ซึ่งทรงได้รับการบูชาอย่างมากมายในบรรดาชนเผ่าต่างๆ แห่ง เกาะฟรีเซียน (Frisian) เรื่อยไปจนถึงพวกสลาฟ และกลุ่มชนอีกหลายเผ่าในยุโรปตะวันออก

มหาเทพเฟรย์ ในความเป็นจริงก็ทรงได้รับความนิยมบูชามากมายเช่นกันครับ โดยเฉพาะในหมู่ชาวนอร์สที่เป็นเกษตรกร หรือดำรงชีพเป็นไพร่บ้านพลเมืองตามปกติ มิได้ออกเรือไปแสวงโชคอย่างพวกไวกิ้ง

ความนิยมในการบูชาพระองค์นั้น มากจนถึงเคยเป็นหนึ่งใน triad ของพระเป็นเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ ร่วมกับจอมเทพโอดิน และมหาเทพธอร์เลยทีเดียวละครับ

ส่วนในเทวปกรณ์ ก็ทรงได้รับสิทธิ์ให้มีที่นั่งใน เทวสภาแห่งกลัดส์ไฮม์ (Gladsheim) ทรงปกครองดินแดนของพวกเอลฟ์ หรือ อัลฟ์ไฮม์ (Alfheim) ผมว่าสาวก Lord of the Ring คงคุ้นๆ กับชื่อนี้แน่นอน

มหาเทพเฟรย์ ทรงเป็นพระเชษฐาที่ดีของมหาเทวีเฟรยา เมื่อเกิดอะไรขึ้นกับพระขนิษฐา พระองค์จะทรงห่วงใยเสมอ




ภาพ Illustration ของทั้งสองพระองค์ จึงเป็นที่ชื่นชอบกันมากในปัจจุบัน อาซาทรูเออร์ยุคใหม่ถือว่า เป็นสื่อของของทั้งพลังแห่งความอุดมสมบูรณ์ และภราดรภาพระหว่างพี่น้องเลลยทีเดียว

ทั้งสององค์ทรงเป็นเทพแห่งความอุดมสมบูรณ์เหมือนกัน และก็ทรงมีสัตว์มงคลเป็น หมูป่า เหมือนกันด้วยนะครับ

แต่... กูลลินเบอร์สตี (Gullinbursti) พญาหมูป่าของมหาเทพเฟรย์ เป็นสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์

ในขณะที่ ฮิลดีสวีนี (Hilðisvini) พญาหมูป่าของมหาเทวีเฟรยา เป็นสัญลักษณ์แห่งสงคราม

เหตุผลก็คือ แม้เทพนิยายจะกล่าวว่า ทั้งสององค์เป็นเทพวาเนียร์เหมือนกัน แต่ความจริง น่าจะมาจากคนละลัทธิกันครับ

มหาเทพเฟรย์ น่าจะมีลัทธิเดิมเป็นเทพแห่งความอุดมสมบูรณ์อย่างแท้จริง ในขณะที่มหาเทวีเฟรยา มีลัทธิเดิมที่บูชาพระนางทั้งในแง่ของความอุดมสมบูรณ์ และการรบทัพจับศึก ซึ่งก็จะต้องเป็นลัทธิที่ "ใหญ่" กว่ามหาเทพเฟรย์ด้วย

เมื่อมาอยู่ในอัสการ์ด พระนางจึงได้รับการแต่งตั้งเป็น นางพญาแห่งวัลคีรีส์ มีบทบาทเสมอจอมเทพโอดิน ในการคัดเลือกดวงวิญญาณผู้กล้าจากสมรภูมิ ซึ่งเป็นเรื่องที่ชาวนอร์สให้ความสำคัญที่สุดมาตั้งแต่ยุคแรกๆ

ขณะที่มหาเทพเฟรย์ มิได้รับเกียรติถึงเพียงนั้นครับ

อีกทั้งเมื่อวิเคราะห์ตามปกรณ์โหราศาสตร์ ดาวศุกร์เป็นคู่มิตรกับดาวอังคาร มหาเทวีเฟรยาคือดาวศุกร์ และสงครามคือดาวอังคาร

ส่วนหมูป่านั้น เป็นสัตว์ที่มีทั้งพละกำลัง และความดุร้าย จึงเป็นได้ทั้งสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ และสงคราม

เทพนิยาย ไม่ใช่สิ่งอันควรเชื่อหรอกครับ แต่ควรศึกษา เพราะมีเบื้องหลัง มีที่มาที่ไปทั้งสิ้น

และคนโบราณ สามารถทำให้ "ลงตัว" ได้ ทั้งในแง่เทวศาสตร์ เทพนิยาย และโหราศาสตร์ครับ

นอกจากมี พญาหมูป่าแห่งความอุดมสมบูรณ์ อยู่เคียงข้างแล้ว ประติมานวิทยาของมหาเทพเฟรย์ ก็ยังจะต้องทรงถือดาบวิเศษ ที่มีอานุภาพยิ่งกว่าดาบชนิดใดๆ ในโลกทั้งเก้า เรียกกันว่า ดาบประกายแสง

ในเทพนิยาย เล่าว่าพระองค์ทรงยกดาบเล่มนี้ให้พระสหาย ชื่อ สเคียร์เนียร์ (Skirnir) เป็นค่าตอบแทนที่ช่วยเป็นพ่อสื่อเจรจากับยักษิณีที่พระองค์หลงรัก

ผลก็คือ เมื่อถึงวันสิ้นโลก พระองค์ไม่มีอาวุธที่ดีพอจะต่อกรกับ เซิร์ท (Surt) อสูรอัคคี จนถูกมันสังหาร

แล้วสุดท้าย เจ้ายักษ์นั่นก็เผาทั้งโลกด้วยไฟ เผาตัวมันเองตามไปด้วย

เรื่องเล่าเช่นนี้ ก็เล่ากันไปอย่างหนึ่ง หากแต่ในความเป็นจริง เทพเจ้าไม่มีการตายหรอกครับ

จริงๆ แล้วก็คือ เมื่อถึงยุคโลกาวินาศ “ลัทธิศาสนา” ของจอมเทพโอดิน และของเทพทุกองค์ในโลกนี้จะสูญสิ้นไป แต่พระองค์และเทพเหล่านั้น มิได้สูญสิ้นไปด้วย แล้วหลังจากนั้น พระองค์จะกลับมาใหม่




ดาบประกายแสง ที่เทพนิายบอกว่ามหาเทพเฟรย์ ฃทรงยกให้เพื่อน เอาเข้าจริงก็เป็นประติมานวิทยาของพระองค์ ที่ขาดไม่ได้เลยครับ

หรือพูดง่ายๆ คือ ชาวนอร์สที่บูชาพระองค์ ยังคงบูชาเทวรูปของพระองค์ที่ถือดาบประกายแสงมาตลอด

เครื่องรางของพระองค์ ก็เป็นดาบประกายแสง ดังที่ผมโพสต์ไว้ใน http://runesdivinator.blogspot.com/2018/06/blog-post.html

แสดงว่า ที่จริงแล้ว พระองค์ไม่ได้ยกให้ใครไป ด้วยความหลงผู้หญิงจนขาดสติ ตามความคิดของขี้เมาไวกิ้ง ที่ชื่นชอบเรื่องแบบนี้ไงล่ะครับ




มหาเทพเทียร์ (Týr)

เทพแห่งสงคราม ความกล้าหาญ เกียรติยศ ชัยชนะ กฎระเบียบ และพลัง

มีความสับสนในเรื่องพระบิดามารดาของมหาเทพเทียร์ ในบทกวี Hymiskviða กล่าวว่า บิดาของพระองค์คือ พญายักษ์ฮีเมียร์ (Hymir) ซึ่งมีนิวาสสถานอยู่ทางตะวันออกของ ธารน้ำแข็งเอลีวาการ์ (Élivágar)

ก็คือ พญายักษ์จอมหัวแข็ง ที่ผมเล่าไว้ในหนังสือ อติเทวปกรณ์ และใน Facebook ว่าออกไปตกปลากับมหาเทพธอร์ จนไปเจอพญางูแห่งมิดการ์ดนั่นละครับ

ส่วนมารดาของพระองค์ เป็นยักษิณีผู้งดงามและอ่อนหวาน แต่ไม่ปรากฎชื่อ ซึ่งก็มีตำราอื่นกล่าวว่า อสุรีผู้นี้เป็นบุตรสาวของฮีเมียร์ซะอีก

มหาเทพเทียร์ทรงเป็นผู้พิทักษ์สวรรค์ครับ ทรงมีเกียรติยศสูงสุด ในบรรดาเทพเอเซียร์ทั้งปวง เพราะทรงเสียสละพระหัตถ์ เพื่อความปลอดภัยของทวยเทพและมนุษย์

เรื่องของเรื่องก็คือ วันหนึ่ง จอมเทพโอดินทรงค้นพบว่า เทพอสูรโลคี (Loki) ลักลอบสมสู่กับ นางยักษ์ อังเกอร์โบดา (Angrboda) และมีลูกด้วยกัน 3 ตน ซึ่งล้วนแต่เป็นจอมอสูรที่ไม่มีผู้ใดเอาชนะได้

บุตรอสูรทั้งสามตนนั้น คือ พญางูโยร์มุนกันด์ (Jormungand), จอมอสุรีครึ่งมนุษย์ครึ่งศพ เฮล (Hel) และ พญาสุนัขป่าเฟนเรียร์ (Fenrir)

จอมเทพโอดินทรงแก้ปัญหา ด้วยการขว้างพญางูโยร์มุนกันด์ลงไปในมหาสมุทรแห่งมิดการ์ด ส่งจอมอสุรีเฮลไปครองแดนนรก

ส่วนเฟนเรียร์นั้น ตอนแรกทรงเลี้ยงไว้ครับ เพราะทรงชอบสุนัขป่า

แต่ภายหลัง มันก็เติบโตขึ้นเป็นสุนัขป่ายักษ์ มีความดุร้าย และพละกำลังอันมหาศาล จนไม่มีสิ่งใดควบคุมมันได้

จนเหล่าเทพต้องให้คนแคระทำโซ่วิเศษขึ้นมา เพื่อจับมันไปพันธนาการไว้ในที่ห่างไกลจากโลกทั้งหมด




ในการพันธนาการเฟนเรียร์ มหาเทพเทียร์ ต้องเอาพระหัตถ์ข้างหนึ่งของพระองค์ใส่ปากให้มันงับไว้ เพื่อเทพองค์อื่นๆ จะได้พันธนาการมันได้

และในท้ายที่สุด พระองค์ก็ต้องสูญเสียพระหัตถ์ข้างนั้นไป

พระองค์จึงทรงได้รับการยกย่อง เป็นวีรบุรุษ จากเหคุการณ์นี้แหละครับ

และอักษรรูนส์ Teiwaz ซึ่งเป็นเครื่องหมายของพระองค์ จึงเป็นสัญลักษณ์ของความสำเร็จ ที่ได้มาด้วยความยากลำบาก และต้องยอมสละสิ่งที่มีค่าเป็นการแลกเปลี่ยน

การที่มหาเทพเทียร์ทรงมีลักษณะพิการเช่นนี้ นักศาสนศาสตร์สันนิษฐานกันว่า อาจมิใช่เป็นเพียง "เทพนิยาย" ไปซะทั้งหมดครับ

นั่นคือ น่าจะเป็นภาพลักษณ์ ที่คนในยุคสมัยที่พระองค์ทรงเป็นมนุษย์ จดจำกันได้ และเล่าขานกันทั่วไป

เมื่อมีการบูชาสืบต่อกันมา จึงกลายเป็น Iconography หรือจะเรียกว่าเป็น “อัตลักษณ์” ของพระองค์ก็ว่าได้

มหาเทพเทียร์องค์จริง อาจจะมาจากผู้นำชนเผ่านอร์ส เผ่าใดเผ่าหนึ่ง ที่อาจจะสูญเสียพระหัตถ์ไปในการสงครามครั้งสำคัญ ซึ่งมีผลอย่างยิ่ง กับความอยู่รอดของชนเผ่าที่ทรงปกครองก็ได้นะครับ

ภายหลัง รายละเอียดในเรื่องนี้หายไป เมื่อมีการรวมเรื่องของเฟนเรียร์ เข้าในเทวปกรณ์นอร์ส เพื่อจะเล่าเรื่องวันโลกาวินาศ จึงเอาเรื่องของมหาเทพเทียร์เข้ามารวมกัน

ซึ่งเท่ากับอธิบายได้ด้วย ว่าทำไมจึงมีพระหัตถ์ข้างเดียว และยังรักษาความศรัทธาที่มีต่อพระองค์ ในแง่ของ “วีรบุรุษ” ได้ด้วย

และประติมากรรม ของมหาเทพเทียร์ ที่มีพระหัตถ์ข้างเดียว จึงยังคงเป็นเทวรูป ที่พระองค์ทรงยอมรับมาเป็นพันปีแล้ว ให้เทวาภิเษกเป็นสื่อของพระองค์ได้ครับ

แต่ถ้าเป็นประติมากรรมของมหาเทพเทียร์ ที่กำลังถูกเฟนเรียร์กัด แม้จะสวยงามมาก แต่ก็จะส่งผลที่ไม่ดีในทางฮวงจุ้ย




ในทางเทวศาสตร์ ก็ปรากฏว่า ประติมากรรมเช่นนั้น ไม่ส่งผลที่ดีในการบูชาเช่นกันครับ

เพราะว่า ถึงแม้จะยังคงสื่อเรื่องราวแห่งความกล้าหาญของพระองค์

แต่...ในเมื่อมันไม่ใช่เรื่องจริงของพระองค์ มันก็คือ “ประติมานวิทยาปลอม” หรือ “ประติมานวิทยาที่ล้มเหลว

ต่อให้คนส่วนมาก พากันไปยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นเรื่องจริง องค์เทพก็ไม่ทรงยอมรับหรอกครับ ในเมื่อถึงอย่างไร มันก็ไม่ใช่เรื่องจริง

ผลสำเร็จใดๆ ในทางเทวศาสตร์ ย่อมเกิดจากการที่เข้ากันได้ อย่างเหมาะสม ลงตัว ระหว่างทิพยภาวะอันแท้จริงองค์เทพ กับความศรัทธาของมนุษย์ครับ

ถ้าเมื่อไหร่ ที่ยอมให้สิ่งที่ไม่เป็นความจริง เข้าครอบงำศรัทธา จนไม่มีใครคิดจะค้นหาความจริงกันอีกต่อไป

เทวศาสตร์นั้นจะล้มเหลวในที่สุด จนไม่สามารถก้าวผ่านกาลเวลาได้ครับ

มหาเทพเทียร์ ทรงมีอีกพระนามว่า ทิว (Tiw) ซึ่งเป็นรากศัพท์ของคำว่า Tuesday ในภาษาอังกฤษนั่นเอง




วิสุทธิเทพบัลเดอร์ (Baldur)

เทพแห่งความดีงาม ดุลยภาพ แสงสว่าง และสัจธรรม
         
โอรสแห่งจอมเทพโอดิน ซึ่งทรงมีพระรูปงดงาม พระเกศาสีทอง และพระเนตรสีฟ้า เหมือนพระเทวีฟริกกาผู้ทรงเป็นพระมารดา

และพระองค์ก็ทรงเป็นเทพที่ได้รับความเคารพรักมากที่สุดในอัสการ์ด และมิดการ์ดด้วยครับ

ต่างกับ เทพโฮเดอร์ (Hodur) พระเชษฐา ซึ่งมีพระเกศาสีดำ พระพักตร์เศร้าหมอง พระเนตรบอดสนิททั้งสองข้าง และแทบไม่มีใครแยแส

แต่ทว่า ตามตำนานเทพยุโรปเหนือ คนที่อิจฉาพระองค์ที่สุดนั้น กลับกลายเป็น โลคี ครับ

เพราะพระองค์ทรงเป็น และทรงมีทุกสิ่งที่โลคีอยากเป็น และอยากมีอยู่ตลอดเวลานั่นเอง

พระองค์จึงกลายเป็นเป้าหมายสำคัญ ที่โลคีสาบานว่า จะต้องหาทางกลั่นแกล้ง หรือเล่นงานให้สาแก่ใจ ถึงแม้ว่าพระองค์จะไม่เคยทรงให้ร้ายใดๆ กับเขาเลยก็ตาม

แต่เทพบัลเดอร์ก็ไม่เหมือนกับมหาเทพธอร์ และมหาเทวีเฟรยา ที่ทรงมีจุดอ่อนให้โลคีหาทางกลั่นแกล้งได้ พระองค์แทบจะเรียกได้ว่า perfect ครับ

แม้ว่าโลคีจะพยายามเพียรหาช่องทาง ที่จะเล่นงานพระองค์อยู่ตลอดเวลา แต่ก็ไม่เคยพบช่องทางที่ว่านั้น

จนกระทั่ง ถึงวันที่บุตรอสูรทั้งสามของเขาถูกจอมเทพโอดินเนรเทศไปครองนรกภูมิ ขว้างพ้นแดนสวรรค์ไปสู่ท้องทะเลแห่งมิดการ์ด และพันธขาการไว้ในที่ห่างไกลที่สุด ดังที่ผมเล่าแล้งในเรื่องของมหาเทพเทียร์นั่นแหละครับ

เหตุการณ์นี้ ทำให้ความอดทนของโลคีจบสิ้นลง เขาตัดสินใจแก้แค้นโดยพุ่งเป้าไปที่เทพบัลเดอร์ ผู้ไม่รู้อิโหน่อิเหน่อะไรด้วย

และด้วยความแค้นฝังหุ่นนี่แหละครับ โลคีก็พบช่องทางเข้าจนได้

คือเทพบัลเดอร์นั้น ทรงได้รับคำสัญญาจากทุกสิ่งในโลกว่า จะไม่ทำร้ายพระองค์

เหล่าเทพแห่งอัสการ์ด จึงสนุกกับการใช้พระองค์เป็นเป้าซ้อมอาวุธ และพระองค์ก็ทรงสนุกด้วยกับการละเล่นบ้าบออย่างนั้น เพราะเหตุว่า ไม่มีอาวุธใดสามารถทำอันตรายพระองค์ได้ไงครับ

แต่โลคีล่วงรู้ว่า ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่มิได้สัญญาเช่นนั้น

นั่นก็คือ ต้นมิสเทิลโท (Mistletoe : ไม้จำพวกกาฝากชนิดหนึ่ง)

เขาจึงนำกิ่งของมันมาเสี้ยมให้แหลม ทำเป็นปลายหอก และนำไปให้เทพโฮเดอร์ ลองพุ่งเข้าใส่พระอนุชาของพระองค์

องค์เทพแห่งความดีงาม เมื่อต้องปลายหอกนั้นก็สิ้นพระชนม์




ตามความประสงค์ของโลคี ผู้ซึ่งได้พิสูจน์ให้เห็นว่า คนที่คิดจะทำความชั่วนั้น ย่อมแสวงหาหนทางที่จะทำชั่วได้สำเร็จเสมอ

และสามารถทำเรื่องชั่วที่ใหญ่โต สร้างความเสียหายมากมายเพียงใดก็ได้ ขอแค่ให้ได้สนองความต้องการของตนเองเท่านั้น

ความโศกเศร้าสุดที่จะพรรณนาครอบคลุมไปทั่วอัสการ์ด แต่ก็ยังมีความหวังเล็กน้อยครับ

จอมอสุรี เฮล นางพญานรกสัญญาว่า จะคืนชีวิตแก่องค์เทพบัลเดอร์ ถ้าหากทุกสิ่งในโลกร้องไห้เพื่อพระองค์

และแทบทุกสิ่ง ก็ทำเช่นนั้นจริงๆ ครับ

เว้นแต่โลคี ซึ่งแปลงตัวเป็นหญิงชราคนหนึ่ง และปฏิเสธที่จะร้องไห้

ในที่สุด อัสการ์ดต้องสูญเสียทั้งเทพแห่งความดีงาม และ เทวีนันนา (Nanna) ชายาผู้อ่อนหวานของพระองค์ ซึ่งตรอมพระทัยจนสิ้นพระชนม์ไปด้วยกัน

ความผิดของโลคีครั้งนี้ไม่อาจได้รับการอภัย เขาถูกจับไปพันธนาการในสถานที่อันเร้นลับในมิดการ์ด โดยผูกตรึงไว้กับแผ่นหิน มีงูตัวหนึ่งถูกสาปตรึงไว้เหนือศีรษะ เพื่อคอยพ่นพิษใส่เขาตลอดไป

มรณกรรมของเทพบัลเดอร์ เป็นสัญญาณเริ่มต้นของวันโลกาวินาศ หรือ รักนาร็อค (Ragnarok)

เพราะพระองค์ทรงเป็นเทพแห่งแสงสว่าง ความดีงาม และความจริง เมื่อไม่มีพระองค์ ก็ไม่มีอะไรคานอำนาจความชั่วร้ายในมิดการ์ดได้อีกต่อไป

ยุคสมัยของความดีงาม เกียรติ และศักดิ์ศรี ได้จบสิ้นไปเพราะเหตุนี้ครับ

แต่จนถึงปัจจุบันนี้ ก็ยังคงมีการถกเถียงกัน ทั้งในหมู่นักเทววิทยายุโรปเหนือ และชาวอาซาทรูเออร์ว่า...

ที่จริงแล้ว ในยุคของพวกเรานี้ เป็นช่วงเวลาที่เทพบัลเดอร์ได้สิ้นพระชนม์ไปแล้ว และเรากำลังนับถอยหลังไปสู่วันโลกาวินาศ ใช่หรือไม่?

หลายคนเชื่อกันอย่างนั้นครับ

ในขณะที่ยังมีอีกมาก ที่เชื่อว่า ทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับรักนาร็อค คือ การพยากรณ์ถึงสิ่งที่จะเกิดในอนาคต แต่ยังไม่เกิดในปัจจุบัน รวมทั้งการสิ้นพระชนม์ของเทพบัลเดอร์ด้วย

และ---ก็อย่างที่ผมเขียนไปแล้ว ในเรื่องของมหาเทพเฟรย์ ว่าในความเป็นจริง เทพเจ้าไม่มีการตายครับ




ดังมี่พวกนอร์ส ยังคงบูชาพระองค์เมื่อพันปีที่ผ่านมา เช่นเดียวกับที่โอดินนิสต์จำนวนมาก ยังคงปฏิบัติกันอยู่ในขณะนี้

การบูชาเทพเจ้าที่ “ตายไปแล้ว” ไม่มีชนชาติไหนเขาทำกันหรอกครับ

ดังนั้น สำหรับชาวนอร์ส ผู้รู้จักเทววิทยาของตนดีที่สุด องค์เทพบัลเดอร์ก็ยังอยู่

แต่ความดีงาม ดุลยภาพ และความจริง ย่อมจะต้องเสื่อมถอยลงไปเรื่อยๆ เพื่อนำมวลมนุษย์ไปสู่จุดจบ อยู่ดี

ซึ่งเป็นสิ่งที่องค์เทพแห่งความดีงามองค์ไหน ก็ไม่สามารถขัดขวางได้ เพราะมนุษย์เป็นคนเลือกเองครับ

และในคำพยากรณ์ของชาวนอร์ส เกี่ยวแก่วันมหาวิบัติโลก ก็กล่าวไว้ด้วยว่า ภายหลังการทำลายล้างสรรพสิ่ง เทพและมนุษย์ส่วนหนึ่งยังคงเหลือรอด และช่วยกันสร้างอารยธรรมขึ้นมาใหม่

โดยมีองค์วิสุทธิเทพบัลเดอร์ เสด็จกลับมาปกครองครับ




เทพอสุรีสคาดี (Skaði)

เทวีแห่งภูเขา ฤดูหนาว และการล่าสัตว์

ธิดาของ พญายักษ์ธีอาสซี (Thiassi)

บิดาของพระนาง แปลงร่างเป็นพญาอินทรีไปขโมยหม้อต้มซุปเนื้อของจอมเทพโอดิน และพระอนุชา ในระหว่างท่องเที่ยวในมิดการ์ด

โลคีซึ่งติดไปกับหม้อต้มซุปเนื้อนั้น ถูกพญายักษ์ขู่จะเอาชีวิต จึงช่วยวางแผนลักพา เทวีอีดูนา (Iduna) ชายาของ ดุริยเทพบรากี (Bragi) เป็นเหตุให้พญายักษ์ถูกสังหารในที่สุด

สคาดีจึงเดินทางไปอัสการ์ดเพื่อแก้แค้น แต่เมื่อจอมเทพโอดินทรงเห็นว่าพระนางเป็นยักษ์ที่ดี จึงทรงรับเป็นสมาชิกในอัสการ์ด

ขณะนั้น ในแดนสวรรค์มีเทพอยู่หลายองค์ ที่ยังไม่ทรงมีพระชายา หนึ่งในนั้นก็คือ เทพบดีเยิร์ท พระบิดาของมหาเทพเฟรย์ กับมหาเทวีเฟรยา

ซึ่งแม้จะเสกสมรสมาก่อนแล้ว ตั้งแต่ยังทรงอยู่ในวานาไฮม์ กับเทวีเนียร์ธูส แต่ชายาของพระองค์ก็ไม่อาจติดตามพระสวามีเข้าไปประทับในอัสการ์ดได้ครับ

เหตุผลสำคัญก็คือ พระนางทรงเป็นพระขนิษฐาของพระองค์ และการสมรสระหว่างพี่น้องกัน เป็นธรรมเนียมที่คณะเทพเอเซียร์ไม่ยอมรับเป็นอันขาด

ดังนั้น เทพบดีเยิร์ทจึงต้องทรงมีพระชายาองค์ใหม่ในอัสการ์ด

ขณะที่สคาดี ก็แอบหมายปองเทพบัลเดอร์ ผู้ทรงมีพระรูปงดงามที่สุดในบรรดาเทพเจ้าทั้งปวง

ดังนั้น เมื่อจอมเทพโอดินจัดพิธีเลือกคู่ให้สคาดี โดยการให้เทพบุตรทุกองค์ไปยืนอยู่หลังม่าน โผล่ให้เห็นแต่พระบาทเท่านั้น พระนางก็ทรงเลือกเทพบดีเยิร์ท ผู้ทรงมีพระบาทที่งามที่สุด ด้วยความเข้าใจผิดว่าเป็นเทพบัลเดอร์

ด้วยเหตุนั้น แม้สคาดีจะได้เปลี่ยนฐานะ จากอสุรีเป็นเทพ พระนางก็ไม่พอพระทัย และไม่ประทับอยู่ในอัสการ์ดกับพระสวามี จะทรงท่องเที่ยวล่าสัตว์ และประทับค้างแรมในป่าแห่งมิดการ์ดโดยตลอด




และเพราะหเหตุนั้น พระนางจึงทรงเป็นเทพอสุรีที่ชาวนอร์สให้ความเคารพนับถือมากครับ

เล่ากันว่า ในฤดูหนาวอันโหดร้ายทารุณของดินแดนยุโรปเหนือ ใครก็ตามที่หลงทางในป่า แล้วได้เห็นพระนางทรงท่องเที่ยวล่าสัตว์อยู่

ก็เป็นอันว่า โชคดี เพราะแสดงว่า จะค้นพบเส้นทางกลับบ้านในอีกไม่นาน หรือกำลังจะมีคนไปช่วยเหลือ

แต่พระนางก็ทรงมีภาคร้าย เป็นเทวีแห่งการแก้แค้น และมนต์ดำ ซึ่งก็มีบางสายวิชาที่นับถือพระนางในฐานะนี้มาจนถึงปัจจุบันครับ

การที่ทรงเป็นเทวีแห่งการล่าสัตว์ มีภาคดุร้ายที่เกี่ยวข้องกับมนต์ดำ แถมยังมักมีการกล่าวถึงพระนางวา มีหมาล่าเนื้อ หรือหมาป่าคอยติดตาม ทำให้มีนักเทววิทยาส่วนหนึ่งคิดว่า พระนางทรงเป็นองค์เดียวกับ จันทรเทวีอาร์เตมีส (Artemis/Άρτεμις) ของกรีก

ปัญหาก็คือ แม้ว่าเทวีอาร์เตมีสนั้นจะทรงเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก แต่นับจากยุคเทพนิยาย ก็ไม่มีใครได้เห็นพระนางเลย

ขณะที่เทพอสุรีสคาดี มีรายงานการพบเห็นต่อเนื่องมาจนทุกวันนี้ครับ

ขนาดในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ยังมีทหารที่กำลังลาดตระเวนในป่า ได้เห็นพระนางอยู่ไกลๆ พอตามไปถึงจุดที่พระนางเพิ่งหายไปไม่นาน ปรากฏว่า ไม่มีร่องรอยว่าเคยมีใครอยู่ตรงบริเวณนั้น

ส่วนหมาล่าเนื้อนั้น ใครเข้าป่าล่าสัตว์ก็ต้องมีเหมือนๆ กันทั่วโลก จะเอามายืนยันอะไรไม่ได้หรอกครับ

แล้วในความเหมือน ก็ยังมีความแตกต่างอย่างสำคัญ

จันทรเทวีอาร์เตมีสนั้นทรงรังเกียจผู้ชาย ขณะที่เทพอสุรีสคาดีไม่มีปัญหานี้ แค่ว่าถ้าไม่ใช่ชายที่ทรงต้องการ ก็ไม่สนใจชายอื่นอีกเท่านั้น

จันทรเทวีอาร์เตมีสทรงมีบริวารเป็นนางไม้ ขณะที่เทพอสุรีสคาดีไปไหนมาไหนเพียงองค์เดียว

การได้พบเห็นจันทรเทวีอาร์เตมีสในป่า อาจหมายถึงชะตาขาด ดังมีเรื่องเล่าของพรานหนุ่มที่บังเอิญไปเห็นพระนางกำลังสรงน้ำ จึงถูกสาปให้เป็นกวาง และถูกหมาล่าเนื้อของเขาเองฉีกทึ้งร่างจนตายอย่างสยดสยอง

ขณะที่การพบเห็นเทพอสุรีสคาดีในป่าเช่นกัน คือข่าวดีดังกล่าวแล้วครับ

ในแง่ของกลุ่มคนที่นิยมในองค์จันทรเทวีอาร์เตมีสอย่างแท้จริง มักจะเป็นพวกเฟมินิสต์ ขณะที่เทพอสุรีสคาดี ทรงเป็นขวัญใจของทั้งชายและหญิงที่ชิบชีวิตอิสระ รักการท่องเที่ยว

การบูชา หรือใช้เครื่องรางของพระนาง ยังมีผลในทางไสยศาสตร์ ขณะที่จันทรเทวีอาร์เตมีส...ไม่




ช่วงเวลาที่ผมกำลังเขียน blog นี้ ประติมากรรมที่สวยงามของเทพอสุรีสคาดี มีการผลิตออกสู่ท้องตลาดแล้วไม่น้อยกว่า 2 รูปแบบ มากยิ่งกว่ามหาเทพเฟรบ์ และวิสุทธิเทพบัลเดอร์ ทั้งยังมีแบบระบายสี เช่นเดียวกับที่ทำกันมาก่อนแล้วกับจอมเทพโอดิน มหาเทวีเฟรยา และมหาเทพธอร์

แสดงให้เห็นถึงความนิยมในเทพอสุรีองค์นี้ ที่มากมายจริงๆ ครับ



……………………………


หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด