Saturday, March 24, 2018

มหาเทวีเฟรยา พระเทวีฟริกกา





ผู้เริ่มต้นศึกษาเทววิทยาสแกนดิเนเวีย มักจะต้องพบกับความสับสนบ่อยๆ

ระหว่าง มหาเทวีเฟรยา (Freya) เจ้าแห่งความงาม ความรัก และ พระเทวีฟริกกา (Frigga) เจ้าแห่งความเมตตา การสมรส และครอบครัว

เพราะถ้าเปรียบเทียบกับลัทธิศาสนาอื่นเช่น กรีก-โรมัน คุณสมบัติเหล่านี้มักจะเป็นของเทพนารีองค์เดียวกันครับ

และไม่เพียงแต่ทรงมีคุณสมบัติในเรื่องที่คล้ายคลึงกันเท่านั้น แม้แต่เทวลักษณะก็เหมือนกัน คือทรงมีพระสิริโฉมงดงามเฉิดฉาย พระเกศาสีทอง

พระนามก็คล้ายกันมาก ซึ่งถ้าพิจารณาจากรากศัพท์ และหลักไวยากรณ์ของภาษานอร์สโบราณแล้ว ก็เห็นว่าสามารถจะใช้แทนกันได้ด้วย

ที่สำคัญก็คือ เทพนารีทั้งสองทรงดำรงตำแหน่ง มหาเทวีแห่งสวรรค์ เหมือนกัน

กล่าวคือ องค์หนึ่งทรงเป็นนางพญาแห่งวัลคีรีส์ ผู้ควบคุมกองกำลังของจอมเทพโอดิน ในการ ล่า ดวงวิญญาณวีรชนในมิดการ์ด

อีกองค์หนึ่ง ทรงเป็นพระชายาของจอมเทพโอดิน ผู้ซึ่งโดยตำแหน่งย่อมถือว่า ทรงเป็นราชินีแห่งสวรรค์

ผู้ศึกษาเรื่องนี้ โดยมากเห็นพ้องต้องกันว่า ไม่ใช่สิ่งที่มีเหตุผลเลยครับ

เทวสตรีผู้ดำรงตำแหน่งสูงสุดในคณะเทพทั้งปวง ไม่ว่าลัทธิศาสนาใด ควรมีเพียงองค์เดียวเท่านั้น

แต่ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ครับ, ยังมีเรื่องชวนปวดหัวมากยิ่งไปกว่านั้นอีก

เทวตำนานเก่าแก่ จากหลายแหล่งของสแกนดิเนเวีย ต่างก็ยืนยันว่า มหาเทวีเฟรยาต่างหาก ที่ทรงเป็นพระชายาของจอมเทพโอดิน

ซึ่งแม้จนถึงปัจจุบันนี้ ก็ยังมีผู้กล่าวเช่นนี้อยู่




โดยเฉพาะในบางลัทธิ ที่บูชาจอมเทพโอดินกับมหาเทวีเฟรยา ในลักษณะของทวิเอกานุภาพนั้น ก็บูชาในฐานะที่พระนางทรงเป็นพระชายาขององค์จอมเทพเลยทีเดียว

แม้ว่าในคติดังกล่าวนี้ พระเทวีฟริกกาจะยังทรงมีบทบาทร่วมอยู่ในคณะเทพเอเซียร์ด้วยเช่นกัน

งงมั้ยล่ะครับ?

การที่นับถือกันว่า มหาเทวีเฟรยาทรงเป็นพระชายาของจอมเทพโอดิน ดังที่กล่าวมานี้  ไม่ใช่เป็นแค่ลัทธิเล็กๆ นะครับ แต่เป็นสาขาหนึ่งที่สำคัญของเทวศาสตร์อาซาทรู และเป็นที่รับรู้ของคนทั่วไปในปัจจุบัน

จนเมื่อ คลีฟ บาร์เรตต์ (Clive Barrett) ปรมาจารย์ด้านไพ่ยิปซีหรือไพ่ทาโรต์ ได้ผลิตไพ่ชุด The Norse Tarot ขึ้น ท่านผู้นี้ก็ไม่ลังเล ในการที่จะบรรจุภาพจอมเทพโอดิน กับมหาเทวีเฟรยาลงในหน้าไพ่ชุด Major Arcana ของไพ่สำรับดังกล่าว โดยใช้เป็นหน้าไพ่ The Lovers





มีผู้ชี้ว่า หลักฐานอีกประการหนึ่งที่สอดคล้องกับความเชื่อเช่นนี้ ก็คือองค์เทพ โอเดอร์ (Odur) พระสวามีของมหาเทวีเฟรยานั่นเองครับ

เทพองค์นี้ ไม่มีภูมิหลังให้เราสืบค้นอะไรได้ รวมทั้งพระนาม ซึ่งบางทีก็เรียกกันสั้นๆว่า Od อีกทั้งอุปนิสัยที่ชอบท่องเที่ยวไปทั่วโลก ก็ชวนให้คิดว่าเทพผู้ลึกลับองค์นี้ ก็คือจอมเทพโอดินนั่นเอง

จากประสบการณ์ของผมเองนะครับ เห็นว่า การแก้ไขความสับสนที่กล่าวมาทั้งหมด อาจทำได้ไม่ยาก ถ้าเพียงแต่เราจะไม่เอาแนวความคิดในศาสนาหนึ่ง ไปตัดสินอีกศาสนาหนึ่ง
         
ดังที่ชาวตะวันตกเป็นจำนวนมาก ชอบกระทำกับลัทธิศาสนาอาซาทรู

เทพนิยายในแต่ละศาสนา ย่อมมีลักษณะเฉพาะเป็นของตนเองครับ

แนวคิดบางอย่างอาจสอดคล้องกับศาสนาอื่น แต่บางอย่างก็ย่อมแตกต่างออกไปเป็นเอกเทศ ตามวิถีแห่งพัฒนาการทางอารยธรรม ของกลุ่มชนที่นับถือศาสนานั้นๆ

ลัทธิศาสนาอาซาทรูก็เช่นกัน มีทั้งองค์ประกอบที่เป็นตัวของตัวเอง และคล้ายคลึงกับศาสนาอื่น

เช่นว่าเรื่องความรักและการแต่งงาน อาจไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องเดียวกันก็ได้

เพราะคุณสมบัติของมหาเทวีเฟรยานั้น ผูกพันกับความรักที่มีอิสระเสรี และกามารมณ์ ในฐานะที่เอาไว้ปลดปล่อยความต้องการ




ขณะที่พระเทวีฟริกกาทรงดูแลชีวิตสมรส และครอบครัวในภาพรวม

ความรักแบบของมหาเทวีเฟรยา เป็นความรักแบบหนุ่มสาว ส่วนของพระเทวีฟริกกา เป็นความรักแบบผู้ใหญ่

ชาวนอร์สมองว่า สองสิ่งนี้แตกต่างกันโดยตัวของมันเองอยู่แล้วครับ

ที่สำคัญก็คือ สังคมนอร์สนั้นให้ความสำคัญกับผู้หญิง

และถ้าผู้หญิงสองคนมีอำนาจบารมีทัดเทียมกัน ในขณะที่มีความชำนาญที่แตกต่างกัน ก็สามารถมีฐานะที่เท่าเทียมกันได้ในสังคม

และได้รับการเคารพนับถือเท่ากัน มีเกียรติเสมอกัน โดยไม่จำเป็นต้องชิงดีชิงเด่นกัน

ภาระหน้าที่อันสมควรแก่วัยวุฒิ ก็เป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความแตกต่างที่จำเป็นต้องมี และอยู่ร่วมกันได้ในทุกสังคม ตามทรรศนะของชาวนอร์สครับ

มหาเทวีเฟรยาทรงเป็นหญิงสาว แข็งแรงและปราดเปรียว เหมาะที่จะควบคุมเหล่านางฟ้าแห่งสงครามออกสู่สนามรบ




ขณะที่พระเทวีฟริกกาทรงเป็นผู้ใหญ่ เป็นแม่บ้าน พระจริยาวัตรนุ่มนวล ก็เหมาะที่จะอยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน เพื่อดูแลบ้านให้เรียบร้อย

ทั้งสองสิ่งนี้ย่อมสำคัญพอๆ กันในสังคมไวกิ้ง และไม่จำเป็นที่คนใดคนหนึ่งจะต้องกระทำหมดทั้งสองอย่าง ในเมื่อสามารถแบ่งหน้าที่กันได้อยู่แล้ว

ดังนั้นในความสับสน เราก็จะเริ่มเห็นสิ่งที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนละครับ

มหาเทวีเฟรยาเกี่ยวข้องกับความรัก สิ่งสวยงามและงานศิลปะ ขณะที่พระเทวีฟริกกาเกี่ยวข้องกับความกลมเกลียวในครอบครัว คุณสมบัติของภรรยาที่ดี และงานคหกรรม

มหาเทวีเฟรยาทรงมีความสัมพันธ์กับชายอื่น นอกเหนือจากพระสวามีของพระนาง แต่พระเทวีฟริกกาไม่

ส่วนในทางโบราณคดี ก็มีประเด็นอยู่ว่า คติการบูชามหาเทวีเฟรยานั้นเก่าแก่มาก เก่าไปถึงยุคสำริดของยุโรปเหนือ คือ 1,000 ปีก่อนคริสตกาล

นับว่า อาจจะมีอายุมากกว่าคติการบูชาจอมเทพโอดิน หรือมหาเทพธอร์เสียอีก
         
มิพักต้องกล่าวถึงคติการนับถือพระเทวีฟริกกา ซึ่งเพิ่งเป็นรูปเป็นร่างขึ้นในช่วงกลางถึงปลายยุคไวกิ้งนี่เอง




ในขณะเดียวกัน นักเทววิทยาบางท่านก็ชี้ให้เห็นว่า คติการบูชาพระเทวีฟริกกาไม่เพียงเกิดขึ้นทีหลัง แต่ยังเป็นคติที่แยกย่อยมาจากการบูชามหาเทวีเฟรยาอีกด้วย

กล่าวอย่างง่ายที่สุดก็คือ พระเทวีฟริกกา ทรงเป็นเสมือนภาคหนึ่งของมหาเทวีเฟรยานั่นเองครับ

ดังนั้น แม้แต่พระนามของพระนางก็เห็นได้ชัดว่า เพี้ยนไปจากพระนามของมหาเทวีเฟรยา และยังมีความหมายเหมือนกันอีก

มูลเหตุของเรื่องนี้ ก็คงเกิดจากความแตกต่างทางวัฒนธรรม ของกลุ่มชนที่รับเอาคติการนับถือมหาเทวีเฟรยาไป และนานเข้า ก็ปรับเปลี่ยนเพิ่มเติมไปตามอุดมคติของตน จนกลายเป็นความแตกต่างกันในที่สุด

ต่อมา เมื่อคติการนับถือมหาเทวีเฟรยา ซึ่งเปลี่ยนรูปไปในภาคของพระเทวีฟริกกานี้ กลับเข้ามารวมกับลัทธิศาสนาอาซาทรูอีกครั้ง จึงต้องมีการสังคายนากันใหม่

และด้วยการปรุงแต่งของผู้สังคายนา เทพนารีทั้งสองจึงยังคงเป็นมหาเทวีแห่งสวรรค์ ตามที่ทรงเป็นมาตั้งแต่แรก ทรงมีบทบาทที่สำคัญทัดเทียมกัน แต่คนละด้านกันไงครับ




ส่วนเรื่องที่ว่า เทวีองค์ใดกันแน่ที่ทรงเป็นชายาของจอมเทพโอดิน และเทพโอเดอร์ทรงมีตัวตนจริงแค่ไหน

สิ่งนี้ไม่ใช่ปัญหาสำคัญแล้วละครับ ในการศึกษาเทววิทยายุคนี้

เพราะเรารู้กันแล้วว่า คตินิยมในการผูกเรื่อง ให้เทพองค์ใดเป็นสามีภรรยากัน หรือเป็นพ่อแม่ลูกกันนั้น เป็นกุศโลบายเพื่อผลทางการเมือง ที่ศาสนาฝ่ายเทวนิยมแทบทั้งหมดในโลกนี้ใช้กันทั้งสิ้น
         
ขณะที่ในทางเทวศาสตร์นั้น มีข้อเท็จจริงอยู่ว่า เมื่อเป็นเทพเจ้าที่แท้จริงแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องมีสามี ภรรยา หรือบุตร ไม่ว่าในลัทธิศาสนาใดก็ตาม


……………………………


หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด