Tuesday, October 8, 2019

พลังลี้ลับของภาพเปลือย





ความนิยมของศิลปะตะวันตก ในเรื่องของภาพเปลือย (Nude) ที่เป็นรูปวาด และประติมากรรมนั้น มีมาตั้งแต่ยุคกรีก-โรมัน

นักวิชาการอธิบายว่า เกิดจากความชื่นชมในความงามตามธรรมชาติของร่างกายมนุษย์ครับ

และเพราะเหตุนั้น ศิลปินกรีก-โรมัน จึงนิยมทำรูปเปลือยของผู้ชาย เพราะในยุคนั้น ผู้ชายได้ออกกำลังด้วยการเล่นกีฬา และฝีกฝนศิลปะการต่อสู้ จึงมีรูปร่างที่ได้สัดส่วนมากกว่าผู้หญิง

แต่ในทางมายาศาสตร์ ภาพเปลือยของผู้หญิง จะทำให้เกิดกระแสพลังของความอุดมสมบูรณ์ (Fertility) มากกว่า ซึ่งเป็นสิ่งที่ค้นพบกันมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์

ความรู้เหล่านี้ สืบทอดกันมาในโลกตะวันตก แม้จะมิได้เป็นการทำรูปเคารพ หรือเกี่ยวข้องกับเวทมนต์คาถาอีกต่อไปแล้ว

ทั้งศิลปินและชนชั้นสูง ก็ยังคงชื่นชอบรูปวาด และประติมากรรมเหล่านี้ อย่างไม่รู้สึกตัว ว่า เมื่อนำมาจัดวางไว้ในห้องรับแขก หรือพระราชวัง นอกจากจะทำให้เกิดความสวยงาม และการแสดงออกถึงรสนิยมที่สูงแล้ว มันยังได้มอบพลังลี้ลับที่ช่วย “เสริมบารมี” เช่นเดียวกับศิลปะและวัตถุมงคลที่ใช้ในศาสตร์ฮวงจุ้ยของจีนด้วย

ซี่งภาพวาด และประติมากรรมแต่ละชิ้น ก็จะให้กระแสพลังที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับ

1. เรื่องราวที่นำเสนอ

2. ความงามได้สัดส่วนของสรีระ

3. ความโดดเด่น อันเกิดจากความสว่าง แสงเงา โทนสีที่ใช้

และสำคัญที่สุด คิอ ความเนี้ยบของชิ้นงานครับ

โดยเฉพาะ งานศิลป์ที่มีกระแสพลังในด้านนี้สูงสุด คือรูปวาด และประติมากรรมที่เกี่ยวข้องกับ มหาเทวีอโฟรดิตี (Αφροδίτη) ของกรีก หรือ พระเทวีเวนุส (Venus : ทั่วไปอ่านว่า วีนัส) ของโรมัน
         
พระนางทรงเป็นเทวีแห่งความงามครับ ศิลปินตะวันตกจึงมักจะวาดภาพพระนางเป็นภาพเปลือย ในเหตุการณณ์ต่างๆ

เช่ย เทวกำเนิด หรือ The Birth of Venus ก็เป็นหัวข้อหนึ่งที่ได้รับความนิยมกันมาก

เพราะในเทพนิยายนั้น พระนางทรงถือกำเนิดจากฟองคลื่นในมหาสมุทร ซึ่งในทางมายาศาสตร์ น้ำนั้นเป็นสื่อของคงามอุดมสมบูรณ์อยู่แล้ว

สาวเปลือยกับน้ำ เป็นอะไรที่เข้ากันอย่างไม่อาจปฏิเสธ ศิลปินแต่ละคนจีงสามารถประชันความคิดและฝีมือกันด้วยภาพเช่นนี้ละครับ




ดังเช่นภาพนี้ ซึ่งเป็นฝีมือของ วิลเลียม-อดอล์ฟ บูเกอโร (William-Adolphe Bouguereau) ศิลปินชั้นแถวหน้าในยุควิคตอเรียน วาดภาพนี้ไว้เมื่อปี 1879 เป็นภาพกำเนิดมหาเทวีอโฟรดิตีที่ยอดเยี่ยมภาพหนึ่งจนกระทั่งทุกวันนี้

The Toilet of Venus ก็เป็นอีกหัวข้อยอดนิยม ที่ศิลปินยุโรปนำมาประชันฝีมือกัน โดยมี ฟรองซัวส์ บูเชร์ (François Boucher) แห่งราชสำนักพระเจ้าหยุยส์ที่ 13 ของฝรั่งเศส เป็นผู้ที่สร้างผลงานที่ดีที่สุดไว้




คำว่า Toilet ในที่พำนักของชนชั้นสูงสมัยก่อน หมายถึงห้องอาบน้ำ และห้องแต่งตัวที่รวมเป็นชุดเดียวกับห้องนอน ภาพประเภทนี้จึงทำให้เกิดบรรยากาศอันสุขสบาย ที่มีความเป็นส่วนตัว แตกต่างกับ The Birth of Venus  แม้ว่ามันจะถูกติดตั้งในห้องรับแขกก็ตาม

ภาพที่สวยงามจากเรื่องราวอื่นๆของ มหาเทวีอโฟรดิตี เช่น The Athenaeum-The Awakening of Venus โดย Charles-Joseph Natoire




ก็โดดเด่นด้วยความงามอย่างอ่อนหวาน และสภาพแวดล้อมที่น่ารื่นรมย์ ผ่อนคลาย ทั้งสองสิ่งนี้จะทำให้เกิดพลังในรูปแบบเดียวกัน ทั้งกับผู้ครอบครอง และสถานที่ที่มันจัดแสดงอยู่

ส่วนในด้านของประติมากรรมเปลือยของมหาเทวีอโฟรดิตีนั้น แม้จะนิยมทำกันทั่วไป

แต่ที่มี "พลังแฝง" ในด้านของความอุดมสมบูรณ์อย่างชัดเจนที่สุด คือชิ้นที่ได้รับการขนานนามว่า Kallipygos (มาจากภาษากรีก ΚΑΛΛΟΣ/kallos-beautiful, ΠΥΓΟΣ/pyge-buttocks)




ผมคงไม่ต้องอธิบายนะครับ ว่าได้ฉายาดังกล่าวมาเพราะอะไร

และประติมากรรมชิ้นนี้ก็เก่าแก่มากครับ คือเป็นฝีมือช่างโรมันช่วงศตวรรษทึ่ 1 ก่อนคริสตกาล ที่ copy จากต้นแบบของกรีก ที่เป็นงานสำริดยุค 300 ปีก่อนคริสตกาล

ความนิยมในการทำรูปเปลือยเช่นนี้ แม้จะต่อเนื่องไปถึงเทพนารีอื่นๆ ด้วย แต่ก็มิได้ทำให้เกิดพลังใดๆ เท่ากับมหาเทวีอโฟรดิตีหรอกครับ

เว้นเสียแต่ว่า จะเป็นภาพชุดของนางฟ้า 3 องค์ หรือ The Three Graces

เทพธิดาทั้งสาม คือ อาเกลีย (Aglaea) ยูโฟรซีน (Euphrosyne) และ ธาเลีย (Thalia) เป็นตัวแทนของความงาม เสน่หา และความสร้างสรรค์ ซึ่งในคติโรมันเรียกรวมๆ ว่า กราติอี (Gratiae)

ซึ่งในแง่ของพลังแห่งความอุดมสมบูรณ์ที่บังเกิด ก็อาจส่งผลที่จำเพาะเจาะจงในบางเรื่อง โดยที่ศิลปินเองก็คิดไม่ถึงได้นะครับ




ตัวอย่างเช่น The Three Graces โดย Carle Van Leo, (1705-1765)

เป็น The Three Graces ที่ดูอ่อนเยาว์ สดใส อย่างที่หาผลงานของศิลปินท่านอื่นเทียบได้ยาก ซึ่งจะทำให้เกิดพลังที่ดีแกหญิงสาวที่เพิ่งแต่งงานใหม่ๆ รวมถึงเด็กสาววัยรุ่นอย่างแน่นอน

หรืออาจจะเป็นสื่อแห่งพลัง ที่เสริมวาสนาบารมีของสตรีสูงศักดิ์วัยผู้ใหญ่ เช่น Juno attired by the Graces




ซึ่งรังสรรค์โดยจิตรกรอิตาเลียน อันเดรอา อัปปิยานี (Andrea Appiani)

ภาพนี้สวยมากครับ เป็นภาพ พระเทวีฮีรา (Hera/Ήρα) ผู้ทรงเป็นมหาเทวีสูงสุดแห่งโอลิมปัส (Olympus) และทรงมีพระนามในคติโรมันว่า จูโน (Juno)

ตามลัทธิศาสนากรีก นับถือพระเทวีฮีราในฐานะผู้ทรงอุปถัมภ์ ควบคุมดูแล และปกปักรักษาในทุกมิติของผู้หญิงครับ

ส่วนในทางประติมากรรม ไม่มีผลงานใดดีเยี่ยมไปกว่าของ อันโตนิโอ คาโนวา (Antonio Canova 1757–1822)




ศิลปินยุคนีโอคลาสสิค (Neoclassical) ชาวอิตาเลียน ซึ่งเป็นประติมากรที่รังสรรค์รูปเทพเจ้า เทพธิดา และเรื่องราวจากเทพนิยายกรีกโบราณ ออกมาเป็นงานแกะสลักหินอ่อนได้สวยที่สุด

ที่ได้ยกตัวอย่างมานี้ เป็นรูปวาด และประติมากรรมเปลือยของสตรีเพศเท่านั้น

ถ้าเป็นภาพของคู่รักวัยหนุ่มสาว ก็จะยิ่งเสริมพลังแห่งความอุดมสมบูรณ์มากขึ้นไปอีก รวมทั้งยังเป็นหนทางเดียว ที่ภาพเปลือยของผู้ชายจะมีบทบาทในด้านนี้ได้

แต่ก็มีเงื่อนไขว่า ความเด่นในสรีระของทั้งคู่จะต้องเท่ากัน และทำได้อย่างสวยงาม พอเหมาะพอดีนะครับ

โดยเฉพาะ รูปภาพของกามเทพ หรือ คิวปิด (Cupid พระนามภาษากรีกว่า เอโรส Eros/Έρως) กับชายา คือ ไซคี (Psyche อ่านแบบกรีกว่า ซือคี Ψυχή) 

ในเทพนิยายเล่าว่า ทั้งสองถูกมหาเทวีอโฟรดิตีขัดขวางมิใช่น้อย แต่ในที่สุดก็ได้ครองรักกันตลอดไป

เรามักจะคุ้นกับภาพคิวปิด ที่เป็นเด็กทารกมีปีก แต่ในเทววิทยากรีก-โรมัน คิวปิดโตเป็นหนุ่มแล้ว

ภาพคิวปิดและไซคี ที่วาดหรือแกะสลักอย่างถูกต้อง ตามแบบแผนของกรีก-โรมัน จึงเป็นสื่อของพลังด้านเมตตามหานิยมที่ชัดเจน อีกทั้งในอดีตยังมีผู้เชื่อว่า ช่วยผ่อนปรนชะตากรรมของคู่รัก ที่ถูกผู้ใหญ่กีดกันได้ด้วยครับ

ขณะที่คิวปิดวัยทารก เช่นในภาพมหาเทวีอโฟรดิตี ทั้งของบูเชร์และบูเกอโรนั้น ไม่มีผลใดๆ ทั้งสิ้น




ซึ่งภาพแห่งความรักที่สวยงาม ของ คิวปิดและไซคี  เช่นภาพนี้ L'Amour et Psyché,1899 โดย วิลเลียม-อดอล์ฟ บูเกอโร (ที่ผมกล่าวถึงไปแล้วใน The Birth of Venus) น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดในทุกๆ เงื่อนไข ตามที่ผมอธิบายไปแล้วได้

ขณะที่อีกภาพหนึ่ง ซึ่งมีชื่อเสียงยิ่งกว่า คือ




ซึ่งเป็นผลงานของ ฟรองซัวส์ เชราร์ด์ (François Gérard) กลับมีพลังที่ “อ่อน” มากในด้านมายาศาสตร์ ก็เพราะสรีระของฝ่ายชายชิงความโดดเด่นไปหมด

และภาพคู่รักดังที่กล่าวมานี้ ถ้าเป็นศิลปะในเชิงกามวิสัย (Erotic Art) ก็จะถึงระดับสูงสุด ของพลังแห่งความอุดมสมบูรณ์ เหนือกว่าภาพเปลือยของสตรีเพศด้วยซ้ำไปครับ

แต่งานศิลป์ที่ทำได้ถึงขั้นนี้ หายากมาก เพราะยังคงต้องอยู่ในเงื่อนไขของดุลยภาพในเรื่องของสรีระ ความสวยงาม และความพอดี

ซึ่งในทางจิตรกรรม ผมยังไม่เคยเห็นนะครับ

ส่วนประติมากรรม ที่เป็นตัวอย่างอันดีที่สุดในเรื่องนี้ เห็นจะไม่มีที่ใดเหนือไปกว่า Cupid and Psyche, 1786-93 ฝีมือสุดยอดประติมากร อันโตนิโอ คาโนวา คนเดียวกับที่รังสรรค์ The Three Graces ได้อย่างยอดเยี่ยมที่สุดนั่นเอง




โดยเราจะเห็นว่า เป็นการแสดงออกในด้านกามารมณ์อย่างอ่อนหวาน นุ่มนวล จนแทบไม่ทำให้ผู้ชมเกิดราคะจริตใดๆ แต่พลังแห่งความอุดมสมบูรณ์นั้นเต็มที่ครับ

หากแต่ในทางตรงกันข้าม, รูปเปลือยของผู้ชายสองคนที่อยู่ด้วยกัน โดยปราศจากผู้หญิง จะไม่ทำให้เกิดพลังแห่งความอุดมสมบูรณ์ใดๆ เลยแม้แต่น้อย

แล้วถ้ามีการแสดงออกในลักษณะของรักร่วมเพศ ไม่ว่าจะทำได้ดีจนนักวิจารณ์ศิลปะยกย่องกันแค่ไหน ก็กลับจะยิ่งมีผลในการ “ทำลาย” พลังแห่งความอุดมสมบูรณ์ไปจนหมดสิ้น

เพราะชายรักชาย ไม่ทำให้เกิดการสืบทอดเผ่าพันธุ์ อันเป็นหัวใจสำคัญของพลังแห่งความอุดมสมบูรณ์ไงครับ

ดังนั้น การแสดงออกทางกามวิสัยของชายรักชาย จึงเป็น “ขั้วตรงข้าม” กับพลังแห่งความอุดมสมบูรณ์ ในทุกศาสตร์ที่สืบทอดมาแต่โบราณ

ขณะที่งานศิลป์ที่เกี่ยวข้องกับการแสดงความรักของหญิงรักหญิง เช่นภาพนี้ La Nymphe Callisto, séduite par Jupiter sous les traits de Diane ปี 1759 ของ ฟรองซัวส์ บูเชร์ (ซึ่งอันที่จริงคนหนึ่งก็เป็นผู้ชายที่แปลงร่างมา)




แม้จะไม่ทำให้เกิดการสืบทอดเผ่าพันธุ์เช่นเดียวกัน แต่ถึงอย่างไร สาวเปลือยก็ยังคงเป็นสื่อของพลังแห่งความอุดมสมบูรณ์ จึงไม่มีผลเสียในเรื่องนี้อย่างชายรักชาย

ส่วนจีน ซึ่งมีภูมิปัญญาในเรื่องของศาสตร์ฮวงจุ้ย มากกว่าชนชาติใดๆ นั้น กลับไม่มีการใช้รูปวาด และประติมากรรมเปลือย

เพราะจีนมองว่า เป็นเรื่องของความป่าเถื่อนครับ

อีกอย่าง จีนวัดพลังแห่งความอุดมสมบูรณ์จากการที่มีลูกเต็มบ้าน หลานเต็มเมือง คือมองนัยยะทางเศรษฐกิจและสังคมในแง่ของ Prosperity มากกว่า Fertility จึงนิยมใช้ภาพเด็กแทน

และเพราะเหตุนั้น ภาพกามเทพวัยเด็ก ที่เราเห็นเกลื่อนกลาดในศิลปะตะวันตก อย่างน้อยก็อาจจะมีประโยชน์ในทางฮวงจุ้ยของจีนครับ



……………………………


หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด



No comments:

Post a Comment

Note: Only a member of this blog may post a comment.