Sunday, December 13, 2015

การฟื้นฟูลัทธิศาสนาอาซาทรู


เมื่อชาวนอร์สลงหลักปักฐานในที่ต่างๆ ของยุโรปอย่างถาวรในระหว่างคริสตศตวรรษที่ 10-11 และหมดความจำเป็นที่จะต้องทำสงคราม ส่วนใหญ่ก็ละทิ้งศาสนาดั้งเดิมหันไปเข้ารีตนับถือศาสนาคริสต์แทน

จนในที่สุดลัทธิศาสนาอาซาทรู ตลอดจนมายาศาสตร์และเทพพยากรณ์ก็ถูกกวาดล้างทำลาย จนนักเทววิทยาบางท่านเชื่อว่า เป็นเหตุสำคัญของการเสื่อมสูญของบรรดาวัตถุบูชาในศาสนาดังกล่าวครับ

การทำลายล้างศาสนาอาซาทรูโดยกษัตริย์ที่เปลี่ยนไปเข้ารีตนั้น มีตัวอย่างที่ชัดเจนคือ พระเจ้าโอลาฟ ทริกก์วอซัน (Olaf Triggvason) จอมโหด ผู้ปกครองนอร์เวย์ในช่วงต้นคริสตศตวรรษที่ ๑๑ กษัตริย์ผู้นี้มีชื่อเสียงในการสั่งประหารชาวนอร์เวย์ที่เป็นศาสนิกในศาสนาอาซาทรูเดิม ซึ่งไม่ยอมเข้ารีตเป็นจำนวนมากครับ มีทั้งประหารอย่างธรรมดาและทรมานจนตายอย่างสยดสยอง ที่ทรงสั่งให้ทำร้ายรังแกจนพิกลพิการไปก็ไม่น้อย



ภาพจาก http://en.wikipedia.org

มีการบันทึกเกี่ยวกับผู้แข็งขืนไม่ยอมเข้ารีต จนต้องจบชีวิตอย่างน่าอนาถ เช่น ร็อดผู้แข็งแกร่ง (Raud the Strong) เจ้าของที่ดินซึ่งถูกพระเจ้าโอลาฟสั่งให้ใช้งูพิษกัดที่ลำคอ, อีย์วินท์ คีนริฟี (Eyvind Kinnrifi) ถูกทรมานจนตายด้วยการเอาชามที่ใส่ถ่านแดงๆ วางบนหน้าท้อง, โอลิเวอร์ มรณสักขี (Oliver the Martyr) ซึ่งลักลอบทำพิธีบูชาคณะเทพเอเซียร์และถูกจับได้ ก็ถูกฆ่าตายอย่างโหดเหี้ยม

แม้แต่กษัตริย์ผู้ครองดินแดนที่เล็กกว่า เช่น พระเจ้ากูโธรธ แห่ง อูพพ์ลันท์ (Guthroth of Uppland) ซึ่งทรงปฏิเสธอย่างแข็งกร้าวเมื่อพระเจ้าโอลาฟทรงมีพระประสงค์จะให้พระองค์เปลี่ยนศาสนา ก็ทรงถูกตัดพระชิวหาเป็นการสั่งสอน

ใครจะว่ากรรมสนอง ที่คนไวกิ้งรุ่นก่อนหน้านั้นไปทำกับพวกคริสต์ไว้มากก็ตามแต่นะครับ แต่ตอนไวกิ้งเข่นฆ่าปล้นสดมภ์โบสถ์และบ้านเมืองของชาวคริสต์ พวกเขาก็ไม่ได้ทรมานใครนะครับ ถ้าจะฆ่าก็เอาดาบฟันฉับเดียวไปเลย ถ้าจะจับใครไปขายเป็นทาส ทาสบางคนก็ได้อยู่สบายแถมยังมีอนาคตที่ดีนะครับ เช่นบาทหลวงหนุ่มจากโบสถ์ลินดิสฟาร์นที่ รักนาร์ ล็อธบร็อค (Ragnar Loðbrók) จับไปอยู่ด้วยในซีรี่ส์ Vikings

แต่ไม่ใช่ผู้ต่อต้านพระเจ้าโอลาฟทั้งหมดที่จะต้องมีอันเป็นไปนะครับ ถ้ามีบารมีมากหน่อยอย่างพระนางซีกริธ (Sigrith) ผู้ปกครองสวีเดนในขณะนั้น ก็เพียงแต่โดนตบพระพักตร์  และการสมรสระหว่างพระนางกับพระเจ้าโอลาฟก็ต้องยกเลิก

แต่พระเจ้าโอลาฟไม่สามารถทำอะไรได้มากกว่านั้น เพราะการสมรสกับพระนางซีกริธเป็นเพียงหนทางเดียวที่พระองค์จะได้ครอบครองสวีเดนอย่างถูกต้อง และสามารถเปลี่ยนชาวสวีดิชทั้งหมดให้เป็นคริสตศาสนิกชนได้

พระเจ้าโอลาฟ ทริกก์วอซัน สิ้นพระชนม์ในสงครามที่ สติคเคลสสตาวา (Stikklesstada) ในนอร์เวย์เมื่อ ค.ศ.1030 พระองค์ทรงได้รับการยกย่องเป็นนักบุญ (St.Olaf) ส่วนผู้ไม่ยอมเข้ารีตจนตัวตายและผู้ขัดขืนดังที่ยกรายชื่อมานั้น แต่ละท่านยังคงมีวันที่ชาวอาซาทรูเออร์จะร่วมกันจัดพิธีแสดงความระลึกถึง โดยถือเป็นวันสำคัญทางศาสนาวันหนึ่งในปัจจุบัน

แม้ว่าในที่สุด ศาสนาคริสต์จะมีชัยชนะเหนือภูมิภาคสแกนดิเนเวียดังที่เราเห็นกันอยู่ แต่ก็ยังมีกษัตริย์ผู้ครอบครองดินแดนที่ห่างไกลออกไปซึ่งช่วยให้ลัทธิศาสนาอาซาทรูเหลือรอดต่อมาได้ครับ เช่น พระเจ้ายาร์ล ฮาร์คอน ซิเกอร์ดส์ซัน (Jarl Harkon Sigurdsson) ผู้ครองดินแดนภาคตะวันตกของนอร์เวย์ และทรงมีส่วนสำคัญยิ่งในการรักษาศาสนาดั้งเดิมนี้ในไอซ์แลนด์ จนได้สืบทอดต่อๆ กันมา กลายเป็นรากฐานของลัทธิศาสนาอาซาทรูที่ได้รับการฟื้นฟูขึ้นใหม่ในปัจจุบัน

นักปราชญ์ชาวสแกนดิเนเวียบางท่าน แม้ว่าจะนับถือศาสนาคริสต์ แต่ก็มีส่วนช่วยเหลือในเรื่องนี้เช่นกัน ด้วยการทำหน้าที่รวบรวมเทวตำนานเก่าแก่ของอาซาทรูไว้ได้มาก และมีการปริวรรตขึ้นเป็นตำราอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนแม้ในยุคไวกิ้ง

ผลงานของนักปราชญ์เหล่านี้ ทำให้คณะเทพของสแกนดิเนเวียเป็นที่รู้จักทั่วไปในรูปแบบของเทวปกรณ์และพงศาวดาร และเป็นแรงดลใจให้ศิลปินและกวีในยุคหลังสร้างสรรค์ผลงานเกี่ยวกับองค์เทพเหล่านี้ประปราย

ตัวอย่างของนักปราชญ์ผู้รวบรวมตำนานเทพเจ้าอาซาทรูขึ้นอย่างเป็นหลักเป็นฐานที่สุด และเป็นคลังความรู้ทางเทววิทยาสแกนดิเนเวียที่ดีที่สุดเท่าที่เรามีกันอยู่ ได้แก่ สนอร์รี สเตอร์ลูสซัน (Snorri Sturlusson) ซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วงคริสตศตวรรษที่ 13 ครับ



ภาพจาก http://en.wikipedia.org

ท่านผู้นี้ ได้ร้อยเรียงตำนานเทพเจ้าของชาวนอร์สเข้าเป็นหมวดหมู่ครั้งแรกเมื่อประมาณค.ศ.๑๒๒๐ โดยอาศัยกวีนิพนธ์ เวอลุสปา (Völuspa) ซึ่งถือกันว่าเป็นบทกวีที่ไพเราะและเก่าแก่ที่สุดในมหากวีนิพนธ์โบราณ เดอะ โพเอทิค เอ็ดดา (The Poetic Edda) ซึ่งแต่งโดยกวีนิรนามเป็นหลัก นำไปรวมกับเกร็ดนิยายปรัมปราทั้งหลายที่ยังคงเหลืออยู่มากในสมัยนั้น แล้วเรียกว่า โพรเซ เอ็ดดา (Prose Edda)





แต่ในการเรียบเรียงนั้น สนอร์รีก็ได้สันนิษฐาน, ดัดแปลง หรือเพิ่มเติมรายละเอียดหลายอย่างที่ไม่มีในเรื่องเดิมเข้าไปไม่น้อยเหมือนกัน ด้วยมุมมองของเขาเองซึ่งมีพื้นฐานมาจากศาสนาคริสต์ โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับการสร้างโลกของจอมเทพโอดิน ซึ่งน่าจะเป็นการประพันธ์ของสนอร์รีล้วนๆ  

นอกจากผลงานของสนอร์รี ก็ยังมีตำนานที่ตกทอดมาในแหล่งอื่น เช่น โวลซุง ซากา (Volsung Saga) ซึ่งมีรายละเอียดอีกหลายอย่างที่สนอร์รีมิได้รวบรวมไว้ และยังมีจารึกอีกหลายหลักที่เกาะไอซ์แลนด์ รวมทั้งเกร็ดนิยายอีกนับไม่ถ้วนที่นักเล่าเรื่องชาวนอร์สในสมัยโบราณนำไปเล่าตามที่ต่างๆ และยังมีผู้จดจำได้จนถึงยุคของเรา





การปะติดปะต่อสิ่งเหล่านี้เข้าด้วยกันนับเป็นเรื่องที่ยากครับ แต่ อันนี และ เอลิซา คยารี (Anni & Elisa Kjari) ก็ทำได้สำเร็จ โดยรวมทุกอย่างนี้เข้ากับงานของสนอร์รีเป็นหนังสือเล่มใหญ่เมื่อค.ศ.1857 ภายใต้ชื่อว่า อัสการ์ด ฮเยลต์ (Asgard Hjälte) นับเป็นคู่มือศึกษาเทวปกรณ์อาซาทรูที่ดีที่สุดเล่มหนึ่งจนกระทั่งทุกวันนี้

ส่วนคติอื่นๆ ในลัทธิศาสนาอาซาทรู นอกเหนือจากเทพนิยายนั้น ปรากฏว่าคงเหลืออยู่แต่เฉพาะในแถบชนบทที่ห่างไกลจากอิทธิพลของศาสนาคริสต์เท่านั้น แนวคิดและหลักปฏิบัติของชาวนอร์สโบราณที่เกี่ยวข้องกับศาสนาดังกล่าว แม้จะมีผู้สืบทอดก็กระจัดกระจายกันไป ไม่เป็นหลักเป็นฐาน และไม่มีการสังคายนา จนกระทั่ง อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolph Hitler) ได้เป็นผู้นำเยอรมนีในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

เราไม่ทราบแน่ชัดหรอกครับว่า ฮิตเลอร์มีความสนใจในทางมายาศาสตร์มากน้อยเพียงใด เพราะเขาและพรรคนาซีได้ออกคำสั่งให้ยกเลิกสำนักไสยศาสตร์ต่างๆ ที่มีอยู่ดาษดื่นในเยอรมนีอย่างเป็นทางการในปีค.ศ.1937 แต่ก็มีการนำอักขระ ซีเกล (Sigel) ในชุดอักขระรูนส์มาใช้เป็นเครื่องหมายของกองทัพนาซีนอกเหนือจากตราสวัสดิกะ



ภาพจาก http://www.dailymail.co.uk

อักขระซีเกลนี้มีความหมายรวมๆ ว่า ชัยชนะ (ตามที่ผมเคยอธิบายไปแล้วนะครับ) และในทางเทวศาสตร์อาซาทรูดั้งเดิมใช้เป็นยันต์ทำลายสิ่งชั่วร้ายต่างๆ มีผู้วิเคราะห์ว่า การที่ฮิตเลอร์เลือกนำอักขระนี้มาใช้ ก็คงเพื่อเสริมพลังอำนาจของกองทัพนาซีในการครอบครองยุโรป และขจัดกวาดล้างสิ่งชั่วร้ายทั้งปวงในสายตาของฮิตเลอร์ นั่นคือชาวยิว

แม้ว่าในที่สุดเยอรมนีจะเป็นฝ่ายแพ้สงคราม แต่การนำเพียงเศษเสี้ยวจากเทวศาสตร์อาซาทรูมาใช้ ก็เท่ากับเป็นการจุดประกายให้เกิดการฟื้นฟูลัทธิศาสนาอาซาทรูครับ

โดยมีการรวบรวมผู้สืบทอดคติความเชื่อและศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อสังคายนาและวางรากฐานแก่การศึกษาทางเทววิทยาอย่างเป็นระบบขึ้นในช่วงไม่กี่สิบปีมานี้ ก่อนจะข้ามน้ำข้ามทะเลไปสู่อเมริกาพร้อมกับกระแสนิวเอจ (New Age) และเจริญงอกงามไปทั่วโลกดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยมีบุคคลสำคัญผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นศาสดาแห่งลัทธิศาสนาอาซาทรูในยุคนี้คือ อเล็กซานเดอร์ รัด มิลล์ส์ (Alexander Rud Mills) ชาวออสเตรเลีย และ สเวนบยอร์น เบนเทนส์ซัน (Sveinbjorn Beinteinsson) ชาวไอซ์แลนด์ เป็นต้น



อเล็กซานเดอร์ รัด มิลส์ ภาพจาก http://en.wikipedia.org

ปัจจุบันนี้ กำลังสำคัญในการเผยแพร่ลัทธิศาสนาอาซาทรูมีทั้งในสหรัฐอเมริกาและสแกนดิเนเวีย ซึ่งมีอาซาทรูเออร์สำนักต่างๆ หลายสำนัก ทำหน้าที่เผยแพร่คติดังกล่าวไปทั่วโลกผ่านทางอินเตอร์เน็ต

เพราะการที่สำนักอาซาทรูเออร์เหล่านี้ จะส่งผู้ชำนาญการของตนข้ามน้ำข้ามทะเลไปเผยแพร่ศาสนาถึงอีกซีกหนึ่งของโลกนั้น เป็นสิ่งที่ไม่ค่อยกระทำกันหรอกครับ

แม้แต่ที่ผมเองได้มีโอกาสศึกษาเทวศาสตร์อาซาทรูมาแล้ว ก็เป็นด้วยเงื่อนไขพิเศษ คือสถาบันแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมไทย-ยุโรปที่ผมได้เข้าไปศึกษาอยู่ระยะหนึ่งนั้น มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสำนักผู้ศึกษาเทวศาสตร์อาซาทรูสำนักหนึ่ง จึงสามารถเชิญครูบาอาจารย์ของเขาเข้ามาสอนในเมืองไทยได้

ซึ่งนั่นก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อยี่สิบกว่าปีมาแล้ว ปัจจุบันก็ไม่มีใครคิดทำกันอีกต่อไป




สำหรับชาวสวีเดน นอร์เวย์ เดนมาร์กและฟินแลนด์ ผู้สืบเชื้อสายมาจากบรรพชนชาวนอร์สในขณะนี้ แม้ว่าโดยทั่วไปจะเป็นคริสเตียน แต่พวกเขาก็มีความภาคภูมิใจในลัทธิศาสนาดั้งเดิมของพวกเขา ในฐานะที่เป็นสัญลักษณ์ประจำชาติอย่างหนึ่งครับ พระนามของเทพเจ้าทั้งหลาย โดยเฉพาะจอมเทพโอดิน มหาเทวีเฟรยา และมหาเทพธอร์ ยังคงเป็นที่นิยมนำมาตั้งชื่อบุตรหลานกันทั่วไป มีการรื้อฟื้นและอนุรักษ์พิธีกรรมแบบดั้งเดิม ซึ่งพอหาดูได้ตามชนบทอย่างเปิดเผย แม้จะขัดกับหลักศาสนาปัจจุบันก็ตาม
  
นอกจากนี้ เทพนิยายและพงศาวดาร ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในลัทธิศาสนาอาซาทรู ยังคงปรากฏในแบบเรียนที่เด็กนักเรียนทุกคนต้องศึกษา และเป็นสิ่งที่คนเฒ่าคนแก่ยินดีที่จะเล่าให้ลูกหลานฟังในวันหยุดพักผ่อนของครอบครัว


ในด้านของงานศิลปะและของที่ระลึก ช่างฝีมือยังคงผลิตงานหัตถกรรมรูปเทพเจ้าต่างๆ ออกจำหน่าย ทั้งเลียนแบบวัตถุโบราณและคิดค้นขึ้นมาใหม่ เป็นปริมาณมากยิ่งกว่าที่อาจผลิตได้ตลอดระยะเวลาอันรุ่งเรืองกว่า 300 ปีของยุคไวกิ้ง



……………………………



หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด

4 comments:

  1. ดูภาพสุดท้ายแล้วไม่ค่อยน่าเชื่อถือเลยคะ

    ReplyDelete
    Replies
    1. สำนักที่ผมเรียนมาก็ไม่ทำแบบนั้นเหมือนกันละครับ แต่ในสังคม New Age ได้แค่ที่เห็นนี้ก็นับว่าพิเศษสุดแล้ว

      Delete
  2. จะว่าไปแล้ว อาซาทรูยุคนี้กลับน่าจะแพร่หลายมากกว่าในยุคไวกิ้งอีกนะคะ เพราะไปถึงอเมริกา

    ReplyDelete
    Replies
    1. ไวกิ้งยุคนี้ไปอเมริกาแบบโชคดีกว่ายุคบรรพบุรุษครับ เพราะไม่มีอินเดียนแดงเจ้าถิ่นไล่ฆ่า และไปตอนที่ศาสนาคริสต์เสื่อมแล้ว ผมก็รอดูอยู่เหมือนกันว่าในเอเชียจะประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน

      Delete

Note: Only a member of this blog may post a comment.