Monday, October 1, 2018

จอมอสุรี ในไสยเวทกรีก-โรมัน





ในเทพปกรณัมกรีก-โรมัน มีอสุรกายจำนวนมาก

แต่ อสุรี หรือ อสุรกายเพศหญิง มักจะมี สายวิชา หรือการนำมาใช้ในทางมายาศาสตร์ และ ไสยศาสตร์ มากกว่าอสุรกายเพศชาย และส่วนมากก็สืบทอดมาถึงปัจจุบัน

ที่เป็นเช่นนี้ เพราะสตรีเพศ คือผู้ครอบครองพลัง และอานุภาพที่จะดลบันดาลสิ่งต่างๆ โดยธรรมชาติอยู่แล้วไงครับ

เมื่อเป็นอสุรี ก็ยิ่งมีฤทธิ์ร้ายแรง เป็นที่หวาดหวั่นมากยิ่งขึ้นไปอีก

ยิ่งจอมอสุรีตนแรกนี้แหละครับ ชื่อเสียงและรูปลักษณ์อันน่าสะพรึงกลัวของนาง เป็นที่ประทับใจโลกตะวันตก มาตลอดระยะเวลามากกว่าสองพันปีเลยทีเดียว




เมดูซา (Medusa/Μέδουσα)

ในเทพปกรณัมกรีก เมดูซาเป็นน้องคนสุดท้องของสามพี่น้อง ซึ่งเป็นธิดาของ ฟอร์ซีส (Phorcys) และ ซีโต (Ceto)

คือ สเธนโน (Sthenno) ยูไรอาลี (Euryale) และเมดูซา ซึ่งเรียกรวมๆ กันว่า The Gorgons

พวกนางเป็นสตรีที่ครองพรหมจรรย์ และบูชามหาเทวีอธีนา แต่ โอวิด หรือ ปูบลิอุส โอวิดิอุส มาโซ (Publius Ovidius Naso) กวีโรมันผู้เลื่องชื่อก็กล่าวว่า องค์เทวีทรงอิจฉาเมดูซาในเรื่องความงาม โดยเฉพาะเส้นผมของนาง

ในขณะเดียวกัน ความงามของนางก็ต้องตาต้องใจ สมุทรเทพโพไซดอน (Ποσειδώνας) เทพแห่งม้าและท้องทะเล ผู้สร้างพายุและบันดาลแผ่นดินไหว

ในวันหนึ่ง ขณะที่สามพี่น้องกำลังบูชามหาเทวีอธีนาอยู่ในเทวสถานตามปกติ โพไซดอนได้ลักลอบเข้าไปกระทำชำเราเมดูซา

องค์เทวีอธีนา ซึ่งมีความเกลียดชังเมดูซาโดยส่วนตัวอยู่แล้ว จึงกล่าวหานางว่า ลบหลู่พระนางโดยการสมสู่กับบุรุษ ในเทวสถานของพระนาง

จากนั้น มหาเทวีได้สาปเมดูซาให้เส้นผมกลายเป็นงู และหากนางจ้องตาใคร เขาผู้นั้นจะกลายเป็นหิน




เมดูซาถูกขับไล่ไปอยู่ในถ้ำที่ เกาะซาร์ปีดอน (Sarpedon/Σαρπιόν) เพื่อให้นางอยู่กับความลำบาก และห้ามมิให้มีสตรีนใดเข้าไปในถ้ำดังกล่าว เพื่อป้องกันมิให้ทำร้ายสตรีด้วยกันเอง

เมื่อ เพอร์ซีอุส (Perseus/Περσεύς) โอรสของ จอมเทพซีอุส (Zeus/Ζεύς) ที่เกิดกับมารดาที่เป็นมนุษย์ จะช่วยเหบือ เจ้าหญิงอันโดรเมดา (Andromeda/Ανδρομέδα) และชาวเอธิโอเปียจาก อสูรคราเคน (Kraken/Κράκεν) ซึ่งมีสิ่งเดียวที่จะทำลายมันได้ คือ ดวงเนตรแห่งเมดูซา

มหาเทวีอธีนาจึงประทานโล่สำริดที่ขัดเป็นมันวาวแก่เพอร์ซีอุส ซึ่งเขาได้ใช้มันสำหรับดูเงาของเมดูซา แทนที่จะมองนางตรงๆ

เมื่อสังหารเมดูซาสำเร็จ วีรบุรุษหนุ่มจึงตัดศีรษะของนาง ใน Theogony ของ เฮเสียด (Hesiod/Ησιόδος) กวีชาวกรีกบรรยายว่า เมื่อเพอร์ซีอุสตัดศีรษะของเมดูซา เลือดของนางกลายเป็นยักษ์ทองคำ เครสเซอร์ (Chrysaor) และม้ามีปีก เพกาซัส (Pegasus/ Πήγασος)




จากนั้น เขาใส่ศีรษะของนางไว้ในถุงผ้า นำไปเปิดให้คราเคนดู อสูรทีไม่มีใครเอ่าชนะได้ก็กลายเป็นหิน

หลังจากช่วยเจ้าหญิงอันโดรเมดา และชาวเอธิโอเปียสำเร็จ เพอร์ซีอุสจึงนำหัวของเมดูซ่าไปถวายมหาเทวีอธีน่า พระนางทรงนำไปติดบนโล่ที่ทรงใช้เป็นประจำนับแต่นั้น

ก็ตามที่เล่ามานี้ละครับ, แม้ชาวโรมันจะสืบทอดคติการบูชามหาเทวีอธีนาค่อจากกรีก แต่พระนางก็ไม่ใช่มหาเทวีผู้ทรงอำนาจ ดังที่ชาวกรีกนับถือกันอีกต่อไปแล้ว

จึงเห็นได้ชัดว่า เทพนิยายนี้แต่งโดยกวีโรมัน ที่ไม่นับถือมหาเทวีอธีนาเลย แม้แต่นิดเดียว

อีกทั้งสังคมชั้นสูงของโรมัน ก็เต็มไปด้วยเรื่องราวของความอิจฉาริษยา ความลุ่มหลงมัวเมา และความเสื่อมทรามทางศีลธรรมต่างๆ เช่นเดียวกับกรีก จนกวีนำไปผูกเป็นเทพนิยายเสียดสี โดยนำเอาเทพต่างๆ มาเป็นตัวละคร เพื่อสะท้อนเรื่องราวดังกล่าวออกสู่สาธารณะ ตามแต่ตนจะชอบหรือเกลียดเทพองค์ใดนั่นเอง

เพราะเป็นไปไม่ได้หรอกครับ ที่มหาเทวีอธีนา จะทรงทำเช่นนั้นกับคนที่เคารพบูชาพระนาง

มหาเทวีแห่งสติปัญญา ผู้เป็นใหญ่แห่งเอเธนส์ จะทรงมีโมหะจริตเช่นนั้นไม่ได้หรอกครับ เป็นพฤติกรรมอันเกิดจากความคิดเบื้องต่ำของมนุษย์ล้วนๆ

และในทางศาสนศาสตร์ เมดูซาเป็นลัทธิบูชาอสุรี ซึ่งมีหลักฐานมาตั้งแต่ยุคหินใหม่ (Neolithic) ของกรีก ประติมานวิทยาของอสุรีตนนี้คือ หน้ากาก ซึ่งทำเป็นรูปใบหน้าหญิงสาวที่มีเส้นผมเป็นงู

ซึ่ง โฮเมอร์ (Homer/Όμηρος) ผู้แต่ง มหากาพย์รอีเลียด (Iliad/ Ιλιάδα) และ โอดิสซี (Odyssey/Ὀδύσσεια) ระบุว่า อสุรีตนนี้ไม่มีร่างกาย มีแต่ใบหน้าเท่านั้น




ในเทวศาสตร์กรีกยุคคลาสสิค ภาพศีรษะเมดูซาเป็นเครื่องรางที่ใช้ขับไล่ความชั่วร้าย เรียกว่า กอร์โกเนียน (Gorgoneion/Γοργόνειον) ซึ่งทำกันตั้งแต่เป็นจี้ห้อยคอ ไปจนถึงประดับบนโล่ของนักรบ

ทั้งสองเหตุปัจจัยนี้ เป็นการอธิบายได้อย่างถูกต้องกว่าเทพนิยายโรมันว่า ทำไมรูปลักษณ์เช่นนี้ถึงไปอยู่บนโล่ของมหาเทวีอธีนา

นับว่า การแต่งนิยายตามอำเภอใจ ของกวีมิจฉาทิฏฐิโรมัน สามารถทำลายทั้งเกียรติภูมิขององค์มหาเทวี ที่ปกป้องยครเอเธนส์หลายร้อยปี และไสยศาสตร์กรีก ซึ่งอยู่เหนือสติปัญญาของชาวโรมัน




ลาเมีย (Lamia/Λάμια)

จอมอสุรีอีกตนหนึ่ง ที่มีรูปร่างส่วนบนเป็นผู้หญิง ลำตัวท่อนล่างเป็นงู

เทพปกรณัมกรีกโบราณเล่าว่า เดิมลาเมียนั้นคือธิดาของสมุทรเทพโพไซดอน กับ พระนางไลบี (Lybie/Λίνπι) แห่งลิเบีย ซึ่งต่อมาได้เป็นราชินีแห่งลิเบียสืบต่อจากพระมารดา

แล้วก็ตกเป็นชายาอีกนางหนึ่ง ของจอมเทพซีอุส จนมีบุตรกับองค์จอมเทพ

พระเทวีเฮรา (Hera/Ήρα) มเหสีขององค์จอมเทพ ผู้อิจฉาริษยาหญิงสาวคนใดก็ตามที่พระสวามีเข้าไปมีความสัมพันธ์ จึงได้สาปลาเมียให้กลายเป็นอสูรกาย แล้วสั่งให้นางฆ่าลูก ๆ ของนางเองที่เกิดกับจอมเทพซีอุส

แต่เท่านั้นยังไม่สาแก่ใจ พระเทวียังสาปให้ดวงตาทั้งคู่ของลาเมียไม่สามารถปิดลงได้ เพื่อให้นางไม่สามารถนอนหลับได้ตลอดกาล

และต้องจำทนเห็นภาพอันน่าสยดสยอง ที่นางฆ่าลูกของตนเอง ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

จอมเทพซีอุสทรงรับรู้ก็สงสาร ประทานพลังให้นางอสูรลาเมีย จนนางสามารถควักนัยน์ตาตนเองทิ้งไป และได้ดวงตาคู่ใหม่ ที่เพิ่มพลังอำนาจของปีศาจมาแทน

และ สิ่งเดียวที่พอจะช่วยเยียวยาจิตใจนางได้ก็คือ การฆ่าลูกของคนอื่นเพื่อเป็นการล้างแค้น

ลาเมีนจึงเป็นจอมอสุรีที่เล่าขานกันว่า ชอบดูดเลือดเด็กๆ และชื่อของนางก็ถูกใช้ขู่เด็กๆ ให้เชื่อฟังพ่อแม่ ยาวนานต่อมา

เวลามีเด็กเล็กตายโดยกระทันหัร คนกรีกก็ชอบพูดกันว่า ถูกลาเมียบีบคอ (τό παιδί τό 'πνιξε η Λάμια)




แถมในศาสนาคริสต์ นักบุญเจโรม (St.Jerome) ยังแปลคัมภีร์โบราณของยิว ที่ว่าด้วยเรื่องของ นางพญาลิลิธ (Lilith) โดยเรียกว่า ลาเมีย เพราะเป็นผีดูดเลือดที่ชอบสังหารเด็กๆ เหมือนกันนั่นเอง

เรื่องของพระเทวีเฮรา ที่รับบทภรรยาขี้หึงบ้าเลือดในเทพนิยายกรีกอยู่เสมอนั้น ก็เป็นเรื่องที่กวีกรีกในยุคเสื่อมของการบูชาเทพแต่งขึ้นเช่นกัน แรกเริ่มก็คงได้แบบอย่างมาจากสตรีชั้นสูงท่านใดท่านหนึ่ง แล้วก็เลยกลายเป็นธรรมเนียมนิยมของนักแต่งนิยายทั่วไป

ทั้งๆ ที่โดยความเป็นจริง พระเทวีเฮราเป็นเทพมารดรที่เก่าแก่ ทรงอำนาจอย่างยิ่ง และปกปักรักษาผู้ที่บูชาพระนางด้วยดีตลอดมา

แต่ในยุคที่ชนชั้นสูงของกรีกบ้าปรัชญา จนไม่เห็นเทพเจ้าอยู่ในสายตา และคนมีการศึกษาอย่างพวกกวี (ซึงก็มีไม่น้อยที่เป็นเกย์ประเภทแอบเกลียดผู้หญิง) ที่แต่งเทพนิยายสนองความเพี้ยนของตนเอง ไม่มีใครรู้สึกผิด หรือยำเกรงอาถรรพณ์ จากการแต่งนิทานจาบจ้วงองค์เทพหรอกครับ

นับจากยุคกรีก-โรมัน เรื่อยมาจนถึงยุคกลางของยุโรป มีบันทึกถึงการบูชานางปีศาจลาเมีย แต่ก็ไม่มีรายละเอียดมากนัก

ปัจจุบัน ก็ยังคงเป็นเรื่องส่วนบุคคล และกลุ่มเล็กๆ ที่เล่นมนต์ดำในยุโรป โดยไม่มีข่าวคราวความเคลื่อนไหวของแม่มดกลุ่มนี้ อย่างเปิดเผยเหมือน witchcraft ทั่วไป




นางเงือก (Mermaid/Γοργόνα)

ในภาษากรีก ไม่มีคำเรียกโดยตรงครับ ใช้คำว่า กอร์กานา (Γοργόνα) คือเป็นนางปีศาจประเภทครี่งคนครี่งสัตว์ เช่นเดียวกับเมดูซา

ตำนานกรีกไม่มีเรื่องราวมากนัก มีรายละเอียดอยู่แค่ว่า เป็น พราย หรือ ผีน้ำ ชนิดหนึ่ง ที่มีหัวและลำตัวเป็นหญิงสาวสวย ท่อนลางเป็นปลา คอยหลอกล่อชาวเรือไปตายในทะเล

โดยเวลาจะล่อลวงมนุษย์ ก็ใช้มนต์สะกดให้พาเรือตามไปจนชยหินโสโครกอับปาง หรือถ้าเป็นกลาสีเรือแตก ก็สะกดให้พายเรือหรือว่ายน้ำในสถานที่ลึกลับ แล้วฆ่ากินเสีย

ชาวกรีก-โรมัน จึงมีไสยศาสตร์ ที่ จำลอง เอารูปลักษณ์และพลังของนางเงือก มาใช้เป็นวิชามหาสเน่ห์ สำหรับให้หญิงใช้หลอกล่อ ดึงดูด เบ้ายวน หรือพันธนาการหัวใจของชายที่เธอรัก อย่างชนิดดิ้นไม่หลุด เหมือนต้องมนต์สะกดของนางเงือก

ไสยเวทชนิดนี้ ไม่เป็นที่นิยมแพร่หลายครับ เพราะหาผู้รู้จริง ทำได้ผลจริงยากมาก จึงรู้จักกันอยู่เพียงในวงแคบๆ และก็เหมือนจะสูญหายไป จากการรับรู้ของผู้คนโดยสิ้นเชิง เมื่อคริสตจักรเข้าครอบงำอาณาจักรโรมัน




เรื่องราวของนางเงือก กลับมาโจษขานกันทั่วไปอีกครั้ง ในยุคที่ชาวยุโรปบุกเบิกหาเส้นทางเดินเรือใหมๆ มีรายงานการพบเห็นนางเงือก ที่บางเรื่องก็มาจากคนที่น่าเชื่อถือ

แต่เมื่อวิศวกรรมในการต่อเรือสำเภาเจริญขึ้น มีศักยภาพในการเดินทางข้ามมหาสมุทรได้ไกลๆ กว่าแต่ก่อน จนเป็นเหตุให้มีเรือสินค้าขึ้นล่องในมหาสมุทรเป็นอันมาก ส่วนใหญ่ก็มองกันว่า เป็นเรื่องเล่าของกลาสีขี้เมา หรือเป็นอุปาทานของลูกเรืออ่อนหัด

เมื่อถึงยุคที่เลิกใช้เรือสำเภากันแล้ว เรื่องของนางเงือก จึงเหลืออยู่เพียงตำนานชาวเรือเท่านั้นแหละครับ

ต่อมา ฝรั่งที่นับุถือคริสต์ จึงเปลี่ยนคความเชื่อ และการรับรู้ของคนส่วนใหญ่ ด้วยนิทานนางเงือกที่กลายเป็นเจ้าหญิง น่ารักน่าสงสาร จนกลายเป็นภาพจำของพวกเรามาจนถึงปัจจุบัน

ทุกวันนี้ นางเงือกจึงเป็นของแต่งบ้านยอดนิยมอย่างหนึ่ง ที่มีการผลิตออกมาทั้งในรูปแบบที่ดูอ่อนเยาว์ สดใส น่ารัก ไปจนถึงแบบ sexy

ในขณะเดียวกัน ประติมากรรมนางเงือกบางแบบ ก็ตั้งใจทำออกมาให้เป็นของแต่งบ้านก็ได้ หรือจะปลุกเสกเพื่อการบูชาก็ได้

เพราะข้อเท็จจริงคือ ไสยเวทเกี่ยวแก่นางเงือกของกรีก-โรมัน มิได้สูญหายไปไหนทั้งสิ้นครับ

พิธีกรรม และมนต์ในการปลุกเสกนางเงือก ยังคงมีใช้กันอยู่ ในสำนักไสยเวทยุโรปที่สืบทอดมาจากไสยศาสตร์กรีก-โรมัน หลายสำนัก




เนื้อหารายละเอียดแตกต่างกัน แต่เจตนา มักจะเป็นไปในแนวทางเดียวกัน คือ เหมือนกับวิชาต้นแบบของกรีก-โรมัน ที่ผมอธิบายไปแล้ว

ผู้บูชาส่วนใหญ่ มักจะเล่นศาสตร์ลี้ลับอื่นๆ ด้วย เช่น แม่มด (Witchcraft) แล้วก็ใช้นางเงือกดึงดูดเพศตรงข้าม มาบำรุงบำเรอปรนนิบัติ จนเบื่อแล้วก็เขี่ยทิ้งไป

จะมีบ้างที่เป็นผู้หญิงกลางคืน ใช้เพื่อจับแขกระดับ VIP เหมือนสาวๆ อาชีพเดียวกันในเมืองไทยเรา ที่ใช้พวกวิชาพราย-วิชาเสน่ห์สายล่าง จับอาเสี่ย ยังไงยังงั้นแหละครับ แต่ก็ไม่แพร่หลายเหมือนเรา

แล้วก็จะมีอันเป็นไปแบบเดียวกันด้วยครับ

คือ ตอนแรกก็เพลิดเพลินจำเริญใจ กับเงินและเซ็กซ์ ที่ได้จากผู้ชายไม่ซ้ำหน้า โดยไม่รู้ว่า ได้สั่งสมอาถรรพณ์ไว้มาก

กว่าจะรู้ตัว ก็ไม่มีทางแก้ไขเสียแล้ว

ผ่านไปเพียงไม่กี่ปี ชีวิตก็จะตกต่ำลงเรื่อยๆ เสน่ห์ที่เคยมีก็หายไปหมด แม้แต่ผู้คนรอบข้างก็ตีตัวออกห่าง

ยิ่งนางเงือกที่มาจากสำนักที่รู้ไม่จริง ไม่มีวิชาจริง เสกมั่ว แบบงูๆ ปลาๆ จับแพะชนแกะ เอาหลายๆ ศาสตร์มายำรวมกัน แบบนั้นจะได้โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือ มะเร็ง ในอวัยวะที่ใช้กับเรื่องกามารมณ์เป็นของแถม

ดังนั้น ผู้หญิงดีๆ หรือฝรั่งรุ่นเก่าๆ ที่ียังจดจำที่มาที่ไปของนางเงือกได้ จึงไม่นิยมบูชา หรือใช้นางเงือกในรูปแบบเครื่องรางเท่าใดนักหรอกครับ




ประติมากรรมนางเงือก ซึ่งทำอย่างสวยงาม น่ารัก สำหรับแต่งบ้าน ไม่มีพิธีกรรมทางไสยเวทใดๆ มาเกี่ยวข้อง จึงเป้นที่นิยมมากกว่า

เพราะนอกจากจะไม่ทำให้เกิดผลด้านลบใดๆ ตามมาแล้ว หากนำมาแต่งบ้าน โดยตั้งโชว์ไว้ในลักษณะที่เรียบร้อย เหมาะสม ยังจะส่งกระแสพลังด้านเสน่ห์ และเมตตามหานิยมออกมา ทั้งๆ ที่ไม่มีการประจุเวทมนต์อะไรเลย

ซึ่งผลที่ได้ แม้จะไม่ชัดเจนทันใจ เหมือนนางเงือกที่เป็นเครื่องราง หรือไสยศาสตร์ แต่ไม่มีข้อเสียใดๆ ทั้งสิ้นครับ

ที่สำคัญ ใช้ได้ทุกเพศทุกวัย ไม่เหมือนนางเงือกแบบที่มีไสยเวทมนตรากำกับ ซึ่งเหมาะกับผู้บูชาที่เป็นหญิงเท่านั้น

ผู้ชายและเกย์ ใช้ไม่ได้ผล




ไซเรน (Sirens/Σειρήν)

นอกจากนางเงือกแล้ว ไซเรนก็เป็นปีศาจ หรือนางพรายที่น่ากลัวอีกชนิดหนึ่ง ในเทพนิยายกรีก-โรมัน

ไซเรนมีลักษณะคล้าย กินรี ของไทยเรา คือหัวและลำคัวเป็นหญิงสาว ท่อนล่างเป็นนก และมีปีกบินได้แบบนก

น่าสงสัยว่า เป็นอมนุษย์จำพวกเดียวกับ กินนร-กินรี ในคติความเชื่อของชนชาติต่างๆ ในทวีปเอเชีย ที่อยู่ติดทะเล ไม่ว่าจะเป็นอินเดีย พม่า ไทย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น

และก็มีบางส่วนที่คล้ายกันมากกับ วัลคีรีส์ (Valkyries) ของนอร์ส ตรงที่ประติมานวิทยาเดิมของวัลคีรีส์นั้น ก็เป็นนางฟ้าที่มีปีกแบบนก และเกี่ยวข้องกับความตายเหมือนกัน

กล่าวคือ พฤติกรรมนางพรายพวกนี้ มักส่งเสียงร้องเพลงด้วยน้ำเสียงที่หวานไพเราะจับใจ จนผู้ได้ฟังลืมสิ้นทุกสิ่ง ในที่สุดก็พาเรือไปชนหินโสโครก แล้วพวกนางจะได้จับลูกเรือกินเป็นอาหาร

อย่างในภาพที่เห็นนี้ คือ Ulysses and the Sirens ปี 1891 โดย John William Waterhouse




บรรยายถึง โอดิสซีอุุส (Odysseus/Οδυσσέας) หรือชื่อโรมันว่า ยูลิสซิส (Ulysses) ผู้ออกอุบายสร้างม้าไม้พิชิตกรุงทรอย

หลังเสร็จศึกเดินทางกลับบ้าน ต้องผจญกับพวกไซเรนระหว่างทางโอดิสซีอุสต้องสั่งให้ผูกตัวเองกับเสากระโดงเรือ และฝีพายต้องล่ามตัวเองไว้อย่างแน่นหนา จึงรอดจากพรายน้ำเหล่านี้ไปได้

โดยในภาพ จะเห็นพวกไซเรนที่ส่งเสียงยั่วยวนลูกเรือของโอดิสซีอุสไม่สำเร็จ ก็ถึงกับพยายามเข้ามาจับลูกเรือถึงในเรือเลยทีเดียว 

แต่พวกนี้ไม่มีความสามารถ ที่จะฉุดกระชากลูกเรือที่ถูกลามไว้ได้หรอกครับ พวกนางมีเสียงเป็นอาวุธเพียงอย่างเดียวเท่านั้น




วีรบุรุษอีกคนในเทพนิยายกรีก คือ ออร์ฟีอุส (Orpheus/Ορφέας) ซึ่งอยู่ใน เรืออาร์โก (Argo/ Άργο) ที่จำเป็นต้องผ่านน่านน้ำที่ไซเรนอาศัยอยู่ ออร์ฟีอุสต้องดีดพิณเป็นทำนองเพลงที่ไพเราะยิ่งกว่าเสียงของไซเรน เพื่อดึงความสนใจของลูกเรืออาร์โก จนผ่านไปได้อย่างปลอดภัย

เลากันว่า หากมีผู้ใดรอดชีวิตไปได้หลังฟังบทเพลงของไซเรน พวกนางจะต้องตาย เช่นเมื่อโอดิสเซียสสามารถพาบริวารรอดไปได้ ก็เล่ากันว่าหลังจากนั้น เหล่านางไซเรนก็กลายเป็นหินไป

ในเทพนิยายโรมัน ระบุว่า พรายจำพวกนี้มีนิวาสสถานอยู่บนเกาะเล็กๆ ซึ่งเรียกกันว่า ไซเรนุม สโคปูลี (Sirenum Scopuli) ไม่ใช่อยู่ในน้ำแบบนางเงือกนะครับ เพราะเป็นคนครึ่งนก ไม่ใช่คนครึ่งปลา




สันนิษฐานกันว่า ชาวกรีกโบราณอาจมีการนำไซเรน มาใช้ในทางมายาศาสตร์ ที่เหนี่ยวนำพลังเสน่ห์-เมตตามหานิยมอยู่บ้าง โดยอาจจะไม่รุนแรงเท่านางเงือก

และก็คงใช้กันในวงจำกัด จนในที่สุดก็เสื่อมสูญไป ไม่ตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน

จะมีก็แต่หลักฐาน ของการใช้มายาศาสตร์ดังกล่าว คือ ต่างหูรูปไซเรน ทำด้วยทองคำฝังโกเมน (Garnet) ในภาพข้างบนนี้ ซึ่งเป็นศิลปะกรีกยุคเฮลเลนนิสติค (Hellennistic) ราวๆ 300 ปีก่อนคริสตกาล

ซึ่งเป็นการสื่อพลังเส่น่ห์ และเมตตามหานิยมอย่างชัดเจนครับ




สฟิงซ์ (Sphinx)

เรารู้จักสฟิงซ์อียิปต์กันทั่วไป ซึ่งเกิดจากการเรียกขานโดยชาวกรีก ทั้งที่จริงๆ แล้วก็ไม่ใช่สฟิงซ์ตามเทววิทยากรีก

สฟิงซ์ในเทววิทยากรีกอย่างแท้จริง เป็นแบบในภาพข้างบนนี้ละครับ

เป็นสฟิงซ์ในศิลปะโรมัน อายุราวๆ ค.ศ.120-140 ได้จากการขุดค้นที่ มอนเต คาโญโล (Monte Cagnolo) นอกเขตเมืองโบราณ ลานูวีอุม (Lanuvium) ใกล้กรุงโรม อิตาลี

ถึงเป็นศิลปะโรมัน ก็ทำตามประติมานวิทยากรีกครับ จะเห็นองค์ประกอบหลักๆ คือ ใบหน้าเป็นผู้หญิง และมีปีก แตกต่างกับสฟิงซ์ของอียิปต์อย่างชัดเจน




สฟิงซ์แบบนี้แหละครับ ที่มีเทพนิยายกรีกโบราณเล่าไว้ว่า หลังจากที่ เทพไดโอนิซุส (Dionysos/Διονύσιος) เทพแห่งเมรัย ได้ทรงสอนการทำไวน์ให้แก่ชาวเมือง ธีบีส (Thebes) จนชาวนครดังกล่าว พากันเมามาย ไม่เป็นอันทำการทำงาน

พระเทวีฮีรา จึงทรงมอบหมายหน้าที่ให้สฟิงซ์ ไปเฝ้าหน้าประตูเมือง คอยฆ่าชาวเมืองที่เมามายไร้สติเหล่านั้น

ซึ่งสฟิงซ์ก็สนองเทวโองการ ของพระเทวีได้อย่างยอดเยี่ยมครับ สังหารขี้เมาไปได้หลายสืบศพ จนขี้เมาที่เหลือไม่กล้าออกจากเมือง

คนต่างถิ่นแม้ไม่ใช่ขี้เมาก็พลอยหวาดผวา ไม่กล้าเดินทางมาค้าขาย




แต่สฟิงซ์จะไม่ฆ่าเหยื่อทันทีนะครับ ให้โอกาสด้วยการถามปัญหา ที่เรียกกันว่า The Riddle of the Sphinx

หากใครตอบปัญหาดังกล่าวได้ สฟิงซ์ก็จะปล่อยไป แต่ก็ไม่เคยมีใครตอบได้หรอกครับ

จนกระทั่งวันหนึ่ง อีดิปุส (Oedipus/Οιδίπους) แห่งโครินธ์ (Corinth) ผ่านมา

สฟิงซ์ก็ถามปัญหา ที่ทำให้ชาวธีบีสต้องสละชีพไปเป็นอันมากมาแล้วนั้นแหละ

"อะไรเอ่ย เดินสี่เท้าเมื่อรุ่งอรุณ เดินสองเท้าเมื่อเที่ยงวัน และเดินสามเท้าเมื่อดวงอาทิตย์ใกล้จะลับฟ้า?"

ด้วยสติปัญญา และปฏิภาณของอีดิปุส เขาตอบปัญหาดังกล่าวได้อย่างไม่ลังเลว่า

"ก็มนุษย์ไงล่ะ! เมื่อยังเป็นเด็ก ย่อมเดินด้วยการคลานทั้งมือและเข่า เมื่อเจริญวัย ย่อมเดินด้วยสองเท้า และเมื่อแก่ชรา ย่อมต้องใช้ไม้เท้าเป็นเท้าที่สาม"




ในนิทานดังกล่าว สฟิงซ์ได้ฟังคำตอบ ที่ไม่คิดว่าจะได้ยินจากมนุษย์หน้าไหนทั้งสิ้น ก็ถึงกับกรีดร้องด้วยความเจ็บใจ นางโผบินขึ้นบนฟ้า แล้วทิ้งตัวดิ่งลงฆ่าตัวตายในทะเล

เทพกรณัมกรีกโบราณ ฝ่ายที่พ่ายแพ้ต่อวีรบุรุษ ต้องมีความตายเป็นที่ไปอย่างนี้แหละครับ

เนื่องจากเทพนิยายเหล่านี้ น่าจะได้รับแรงบันดาลใจมาจากเรื่องราวในยุคก่อนประวัติศาสตร์ ที่บรรพชนของมนุษย์ต้องต่อสู้ และสังหารสัตว์ร้ายต่างๆ เพื่อความอยู่รอดของเผ่าพันธุ์นั่นเอง

แต่มายาศาสตร์กรีก-โรมัน ก็ให้การยกย่องสฟิงซ์ว่า เป็น ทวารบาล หรือ Guardian ที่ดีครับ จึงนิยมทำรูปสฟิงซ์ ทั้งขนาดใหญ่เล็ก แล้วเสกไว้อารักขาศาสนสถาน และสถานที่สำคัญต่างๆ

ดังจะพบได้ในโบราณสถานกรีก-โรมันหลายแห่งในทุกวันนี้


……………………………

หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด