ลัทธิศาสนาดั้งเดิมของพวกนอร์สเผ่าต่างๆ
ในสแกนดิเนเวีย มีศัพท์เรียกว่า อาซาทรู (Asatru) หรือ
โอดินนิสม์ (Odinism)
ลัทธิศาสนาที่ว่านี้
นักศาสนศาสตร์รุ่นเก่ามักตัดสินว่าเป็นศาสนาที่ตายแล้ว คือไม่มีผู้นับถือครับ
แต่ปัจจุบันนี้กลับได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอเมริกาและแคนาดา
และกำลังมีความพยายามผลักดันให้เป็นศาสนาที่เป็นทางการ เช่นเดียวกับ ศาสนาดรูอิดส์
(Druids)
ของพวกไอริชที่ได้รับการยอมรับไปแล้ว
ศาสนิกชนที่นับถืออาซาทรู
เรียกกันว่า อาซาทรูเออร์ (Asatruer, Asatruar) หรือ
โอดินนิสต์ (Odinnist)
ในทางศาสนศาสตร์
ย่อมถือว่าลัทธิศาสนาอาซาทรูเป็นศาสนาฝ่ายเทวนิยมศาสนาหนึ่ง โดยบูชา จอมเทพโอดิน (Odin)
เป็นเทพสูงสุด
จอมเทพองค์นี้
ผมกล่าวถึงแล้วหลายครั้ง เคยโพสต์บทความเกี่ยวกับพระองค์ท่านโดยเฉพาะด้วย ไปหาอ่านกันดูนะครับ
ท่านเป็นครูของศาสตร์แห่งรูนส์
เทพอื่นที่ได้รับการนับถือรองลงมา
และมักได้รับการอัญเชิญในพิธีกรรมต่างๆ ร่วมกับจอมเทพโอดิน คือ มหาเทพเฟรย์ (Frey) เทพแห่งการกสิกรรม, มหาเทวีเฟรยา (Freya) เทวีแห่งความอุดมสมบูรณ์
และ มหาเทพธอร์ (Thor) เทพแห่งสายฟ้า
ทั้งสี่องค์นี้ได้รับการบูชาทั่วไปในวัฒนธรรมนอร์ส
ซึ่งแม้จะต่างเผ่าต่างภาษากัน แต่ก็นับถือพระเป็นเจ้าองค์เดียวกัน
เป็นแต่ออกพระนามต่างกันไปบ้างตามสำเนียงของแต่ละภาษา
นอกจากมหาเทพดังกล่าวมานี้
ยังมีเทพอื่นอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งรวมเรียกว่า เอเซียร์ (Aesir)
และยังมีเทพลึกลับอยู่อีกวงศ์หนึ่ง เรียกว่า วาเนียร์ (Vanir)
ความแตกต่างระหว่างเทพทั้งสองวงศ์นี้ก็คือ
คณะเทพเอเซียร์เป็นเทพแห่งแสงสว่างและการสงคราม
ประทับอยู่ในแดนสวรรค์ที่เรียกกันว่า อัสการ์ด (Asgard :สำเนียงอังกฤษ-อเมริกันว่า แอสการ์ด, สเวนสคาว่า
ออสกวร์ด) จัดเป็นเทพที่ใกล้ชิดมวลมนุษย์ที่สุด
จึงมีเรื่องราวในเทวปกรณ์ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจของนักผจญภัยชาวนอร์สและนักรบไวกิ้ง
ขณะที่คณะเทพวาเนียร์นั้นเป็นเทพแห่งความอุดมสมบูรณ์
ผู้ชำนาญการใช้เวทมนต์ ประทับอยู่ในโลกที่ลึกลับอีกโลกหนึ่ง เรียกว่า วานาไฮม์ (Vanaheim:
สำเนียงสเวนสคาว่า วอนาเฮม) และไม่มีบทบาทมากนัก
ยกเว้นบางองค์ที่เข้ามาประทับในอัสการ์ดร่วมกับคณะเทพเอเซียร์
เทพเจ้าต่างๆ
ในลัทธิศาสนาอาซาทรูมีที่มาที่ไม่เหมือนกันหรอกครับ
บางองค์มาจากเทพเจ้ารุ่นเก่าที่เคยมีอยู่แล้วในยุโรป บางองค์เป็นอีกภาคหนึ่งของเทพแห่งความอุดมสมบูรณ์
บางองค์ได้รับมาจากเทววิทยากรีก-โรมัน
หรือแม้แต่บางองค์ก็เกิดจากการสร้างสรรค์ของเหล่ากวีและนักขับลำนำ
เทพกลุ่มหลังสุดนี้
ยังไม่มีผู้สัมผัสทิพยภาวะได้มากพอที่จะเป็นข้อยุติ หรือเป็นมาตรฐานในทางเทววิทยา
ดังนั้นแม้จะทรงมีบทบาทอยู่บ้างในเทพนิยาย
แต่ก็ยังไม่เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่าทรงมีตัวตนอยู่จริง
เป็นเพียงความเชื่อเฉพาะบุคคล หรือเฉพาะบางสำนักเท่านั้นครับ
แม้ว่า
ลัทธิศาสนาอาซาทรูจะมีเทวปกรณ์เล่าเรื่องกำเนิดโลกและมนุษย์
โดยการสร้างสรรค์ของพระเป็นเจ้าสูงสุด เช่นเดียวกับศาสนาโบราณอื่นๆ แต่ทวยเทพนั้นไม่เป็นอมตะ
แม้แต่จอมเทพโอดินผู้ทรงเป็นพระเป็นเจ้าสูงสุด ก็ทรงหยั่งรู้ในชะตากรรมของพระองค์ และเทพเจ้าทั้งหลาย
รวมถึงสรรพสิ่งที่จะต้องถูกทำลายลงแทบทั้งหมดในวันโลกาวินาศ หรือ รักนาร็อค (Ragnarok)
หากก่อนจะถึงเวลานั้น
พระองค์และปวงเทพก็ทรงเฝ้าถนอมโลกที่ทรงสร้างขึ้นมาอย่างดีที่สุด
เพื่อว่าเมื่อถึงวันโลกาวินาศ
จะได้มีเทพเจ้าและมนุษย์บางส่วนที่เหลือรอดไปสร้างโลกยุคใหม่ที่มีแต่ความสงบสุข
เป็นยุคทองอันแท้จริงของมนุษย์ เช่นเดียวกับที่ชนชาติอื่นๆ ใฝ่ฝันร่วมกัน
เมื่อนับถือศาสนาที่เน้นสัจธรรมของความไม่จีรังยั่งยืน
และการมุ่งมั่นกระทำในสิ่งที่ควรทำจนกว่าชีวิตจะหาไม่
อุดมคติของชาวนอร์สทั้งปวงจึงตั้งอยู่ที่การใช้ชีวิตอย่างคุ้มค่า
คือการได้ออกไปผจญภัย
ต่อสู้อย่างกล้าหาญ ปฏิบัติงานตามที่ได้รับมอบหมายหรือร้องขอ
และถือสัจจะยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด เพื่อจะได้ตายในสนามรบอย่างมีเกียรติ
และคนรุ่นหลังนำเรื่องของตนไปเล่าสืบต่อกันในฐานะวีรชน
ชาวนอร์สเชื่อว่า
การตายอย่างมีเกียรติในการสงคราม หรือด้วยการทำหน้าที่อย่างดีที่สุดนี่ละครับ
ยังจะทำให้จอมเทพโอดินทรงพิจารณาคัดเลือกดวงวิญญาณของพวกเขาขึ้นสวรรค์
ไปสู่ดินแดนซึ่งผู้กล้าเท่านั้นที่จะได้ไป เรียกว่า วัลฮัลลา (Valhalla)
เพื่อรวมกันเป็นกองกำลังที่จะทำการรบเคียงบ่าเคียงไหล่เหล่าเทพเจ้าในวันสิ้นโลก
อันจักบังเกิดในอนาคตกาลพร้อมกับการมาถึงของกองทัพยักษ์
ซึ่งในลัทธิศาสนาอาซาทรูถือว่า
เป็นพลังอำนาจอันชั่วร้ายที่จะมาทำลายสรรพสิ่งให้สูญสิ้นไป
ชีวิตในวัลฮัลลา คือสวรรค์ในอุดมคติของชาวนอร์ส
แต่ละวัน เหล่านักรบผู้กล้าหาญจะต่อสู้กันด้วยดาบและอาวุธต่างๆ
เพื่อเป็นการประลองฝีมือ
ทุกบาดแผลที่เกิดจากการต่อสู้จะมลายหายไปสิ้นเมื่อตะวันตกดิน
และผู้ที่เพลี่ยงพล้ำจนถึงแก่ความตายจะกลับฟื้นคืนชีพอีกครั้ง
ยามค่ำคืน
นักรบทุกคนจะได้เข้าไปสังสรรค์กันในท้องพระโรงของวัลฮัลลา
ซึ่งมีอาหารและสุราเลิศรสให้ดื่มกินอย่างไม่มีวันหมดสิ้น
อุดมคติเช่นนี้
เป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้ชาวไวกิ้งแล่นเรือฝ่าคลื่นลม
และความโหดร้ายของท้องทะเลที่ยากจะมีผู้ใดผ่านพ้น จนพิชิตบ้านเมืองต่างๆ
สร้างความครั่นคร้ามไปทั่วยุโรปโดยไม่มีผู้ใดต้านทานได้เป็นเวลายาวนานกว่า 300 ปี
ถ้าจะว่ากันตามความเป็นจริงแล้ว
ยุคเสื่อมของไวกิ้งก็มาถึงพร้อมกับการที่พวกเขาละทิ้งอุดมการณ์
และลัทธิศาสนาดั้งเดิมของพวกเขานั่นเอง
องค์ประกอบอันสำคัญยิ่งของลัทธิศาสนาอาซาทรู
จึงเป็นเทพนิยาย (Mythology) ซึ่งนิยมนำมาเล่าขานกันทั่วไปทุกชั้นวรรณะ
ไม่ว่าจะเป็นชนชั้นปกครอง กษัตริย์ ขุนนาง
ซึ่งชื่นชอบคุณลักษณะแห่งความเป็นนักปราชญ์
แต่ขณะเดียวกันก็เป็นผู้ทรงอำนาจสูงสุดของจอมเทพโอดิน
ในขณะที่พวกผู้หญิงซึ่งใฝ่ฝันถึงความสวยงาม
ความมีอิสระเสรีไม่อยู่ใต้อาณัติผู้ใดของมหาเทวีเฟรยา
ในอีกภาคส่วน
เทพนิยายอันมีสีสันของมหาเทพธอร์ ผู้ทรงพลังยิ่งกว่าเทพองค์ใดในอัสการ์ด
ก็ให้แรงบันดาลใจแก่นักรบและนักแสวงโชคไวกิ้ง
ในการมุ่งหน้าสู่ดินแดนที่ตนไม่รู้จัก
ด้วยเหตุนี้
สังคมนอร์สจึงให้ความสำคัญกับคนที่มีความรู้ ซึ่งได้แก่เหล่ากวี นักขับลำนำ
และปรัชญาเมธีเป็นอย่างมากครับ ถึงขนาดที่ว่ากวีที่มีไหวพริบเป็นเยี่ยม
(ปฏิภาณกวี) จะได้รับการยกย่องเสมอด้วยนักดาบที่มีฝีมือสูงส่งทีเดียว
เพราะเหตุว่า
คนเหล่านี้คือผู้จาริกไปในที่ต่างๆ ที่ชาวนอร์สบุกเบิกเข้าไป นำเทพนิยายต่างๆ
ไปเล่าขาน
ซึ่งแม้เหล่านักรบไวกิ้งผู้โหดเหี้ยมที่สุดก็พอใจที่จะได้ฟังในยามที่พวกเขาว่างเว้นจากการต่อสู้
นักเล่านิยายเหล่านี้
เป็นชาวนอร์สพวกเดียวเท่านั้นครับที่อ่านออกเขียนได้
และเมื่อนำเทพนิยายไปเล่าขานที่ใด ผู้ฟังก็มีความคาดหวังที่จะให้พวกเขาเป็นผู้นำชื่อเสียงและวีรกรรมของตนไปเล่าให้ผู้อื่นในที่ห่างไกลได้ฟังบ้างเช่นกัน
กวีและนักปราชญ์พเนจรชาวนอร์ส
จึงเป็นผู้เก็บรักษาเทวปกรณ์และตำนานวีรบุรุษไว้ได้มาก
และบ่อยครั้งที่พวกเขาจะรจนาเรื่องราวใหม่ๆ เพิ่มเติมเข้าไป โดยดัดแปลงจากเทพนิยายกรีก-โรมัน
ซึ่งเป็นแหล่งความรู้สำคัญในสมัยเริ่มอารยธรรมนอร์ส
เทวปกรณ์อาซาทรู
จึงมีเนื้อหาบางอย่าง
และเทพเจ้าบางองค์คล้ายกับที่มีอยู่ในเทพนิยายกรีก-โรมันสอดแทรกอยู่เสมอ
แม้จะไม่ใช่ส่วนสำคัญของคติความเชื่อทั้งหมดก็ตาม ตรงนี้ผู้ศึกษาเทววิทยาอาซาทรูจะสังเกตเห็นอยู่บ่อยๆ
ครับ
สำหรับชาวนอร์สทั่วไปที่มิได้เป็นนักผจญภัยหรือนักแสวงโชค
ก็มีความผูกพันกับเทพเจ้าในฐานะที่เป็นวิถีชีวิตอย่างหนึ่งเช่นกัน
มีแม้กระทั่งการนับถือเทพประจำตระกูล ประจำสาขาอาชีพ และมีการประกอบพิธีกรรมในช่วงเวลาสำคัญของแต่ละปี โดยมีหลักเกณฑ์แน่นอนไม่แพ้ศาสนาเทวนิยมอื่นๆ
อ่านแล้วได้ความรู้มากมายจริงๆ ค่ะ
ReplyDelete