Saturday, November 28, 2015

พิธีกรรมในลัทธิศาสนาอาซาทรู

ลัทธิศาสนาอาซาทรูมีการประกอบพิธีกรรมใหญ่ๆ อยู่ 8 ครั้งในแต่ละปี เรียกว่า บล็อท (Blot)





นอกจากนี้ ยังมีพิธีกรรมปลีกย่อยซึ่งจัดขึ้นตามโอกาสต่างๆ ไม่มีกำหนดเวลาแน่นอน เรียกกันว่า ซูมเบล (Sumbel) ก็คือเป็นพิธีเฉลิมฉลองที่จัดกันตามที่คนในครอบครัวหรือหมู่บ้านจะเห็นสมควร

พิธีกรรมในลัทธิศาสนาอาซาทรูดั้งเดิม เท่าที่มีหลักฐานเหลืออยู่นะครับ ส่วนใหญ่เป็นพิธีสำหรับจัดกลางแจ้ง โดยศูนย์กลางของสถานที่ประกอบพิธีกรรมนั้นคือ ต้นไม้ใหญ่เช่นต้นโอ๊ค หรือต้นไม้จำพวกมะกอก (Ash)  และก้อนหินขนาดใหญ่สำหรับเป็นแท่นบูชา

ชาวนอร์สสมัยโบราณที่อยู่รวมกันเป็นเผ่าเล็กๆ มักจะคัดเลือกพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งไว้สำหรับประกอบพิธีเช่นนี้เป็นประจำ โดยดูจากลักษณะและความสมบูรณ์ของต้นไม้ใหญ่ ซึ่งในที่นี้ถือว่าเป็นสัญลักษณ์แทน พฤกษาโลก หรือ อี๊กก์ดราซีล (Yggdrasil) ที่เป็นแกนกลางของโลก ตามคติของชาวนอร์ส




ต้นไม้ซึ่งเป็นศูนย์กลางของพิธีกรรมนี้ จะต้องมีอาณาบริเวณโดยรอบที่มากพอจุคนในชุมชนได้ทั้งหมด พื้นที่ดังกล่าวจะได้รับการถากถางให้โล่งเตียนเป็นรูปวงกลม บางทีก็มีการเอาหินจากลำธารบริเวณนั้นมาวางเรียงไว้โดยรอบ

จากนั้นก็ไปเที่ยวหาก้อนหินจากภูเขาใกล้เคียงมาวางใต้ต้นไม้นั้น โดยคัดเลือกหินทั้งก้อนซึ่งมีผิวหน้าแบนเรียบ มีขนาดพอเหมาะ เมื่อได้มาแล้วก็เอามาวางไว้ที่โคนต้นไม้สำหรับประดิษฐานเทวรูปองค์ประธาน คือจอมเทพโอดิน

และจัดวางเครื่องตกแต่งแท่นบูชาอื่นๆ ได้แก่โล่กลม คบเพลิง ถ้วยที่ทำจากเขาสัตว์ และดาบ เป็นต้น

ดาบเป็นสัญลักษณ์ของความกล้าหาญ ซึ่งเป็นที่พอพระทัยของเทพเจ้า ดังนั้นพิธีที่เคร่งครัดจริงๆ จะต้องมีดาบเป็นส่วนประกอบทุกครั้ง ซึ่งก็ใช้ดาบของผู้นำชุมชนนั่นเองครับ ภายหลังจึงมีการสร้างดาบขึ้นมาสำหรับประกอบพิธีโดยเฉพาะ




ซึ่งตรงนี้ ได้ส่งอิทธิพลไปถึง ลัทธิวิคคา (Wicca) และมายาศาสตร์ยุโรปโบราณอีกหลายสาขาเลยนะครับ ซึ่งบรรดาพ่อมดแม่มดล้วนแต่ต้องมีดาบในการประกอบพิธีกรรมของตนทั้งสิ้น

การจัดสถานที่บูชาอีกแบบหนึ่ง ใช้ต้นไม้และลานโล่งรูปวงกลมเป็นหลักเช่นกัน แต่แทนที่จะหาก้อนหินหรือวัสดุอื่นมาทำแท่นบูชา กลับใช้วิธีเขียนสัญลักษณ์ของจอมเทพโอดินไว้บนผ้าหรือแผ่นหนังสัตว์ เอาไปแขวนไว้กับต้นไม้ ถือว่าเป็นตำแหน่งประธานของพิธีกรรมครับ

ส่วนสัญลักษณ์ของเทพอื่น ก็แขวนไว้บนเสากระหนาบโคนต้นไม้ ที่โคนต้นไม้ก็เอาดาบกับถ้วยเขาสัตว์ไปวางพิงไว้ ถัดมาเบื้องหน้าต้นไม้นั้นก่อกองไฟกองหนึ่ง แล้วปักคบเพลิงประจำทิศทั้งสี่โดยรอบลานประกอบพิธี

แบบหลังนี่เป็นการปฏิบัติบูชาอย่างง่าย ในกรณีที่ไม่มีเทวรูป

ในวัฒนธรรมของพวกนอร์ส เทวรูปคงเป็นของหายากครับ และเท่าที่เหลือรอดมาจนถึงยุคของเราส่วนใหญ่ทำจากโลหะที่หล่อด้วยฝีมือหยาบ และมีขนาดเล็ก เป็นศิลปะแบบพริมิทีฟ (Primitive) เทวรูปสำหรับบูชาประจำท้องถิ่นต่างๆ ที่แกะจากไม้หรือหินอาจมีขนาดใหญ่บ้าง แต่ก็ยังคงทำด้วยฝีมือที่หยาบเช่นกัน




นี่เป็นเรื่องที่น่าพิศวง สำหรับนักโบราณคดี เพราะในขณะที่งานศิลปะประเภทอื่นของชาวนอร์สที่หลงเหลือมาล้วนแสดงว่า ทำโดยช่างฝีมือที่เชี่ยวชาญและมีทักษะสูง เช่น งานโลหะและเครื่องประดับต่างๆ จนถึงงานแกะสลักไม้ตกแต่งหัวเรือที่ละเอียดประณีต แต่เรากลับไม่เคยได้พบเทวรูปดีๆ ที่ทำไว้สำหรับบูชาเลย

ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านจึงคิดว่า ที่จริงแล้วอาจมีการสร้างเทวรูปดีๆ อยู่บ้างเหมือนกัน ซึ่งใช้บูชาในเมืองที่มั่นคงแล้วและมีฐานะดี รวมทั้งน่าจะมีการสร้างเทวาลัยด้วย ซึ่งทำจากวัสดุที่ไม่คงทนถาวร เช่นไม้

เพราะจากงานนิพนธ์ชุด Germania ของ คอร์เนลิอุส ทัคซิตุส (Cornelius Tacitus) นักปราชญ์ชาวโรมันที่เขียนขึ้นในค.ศ.98 กล่าวว่า ชนเผ่าเยอรมันนิค (ซึ่งนอร์สก็รวมอยู่ด้วย) ในสมัยนั้นมีสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนาและเทวสถานค่อนข้างชัดเจน มีงานรื่นเริงและงานสำคัญทางศาสนาตลอดปี อีกทั้งยังมีนักบวชซึ่งทำหน้าที่พยากรณ์เหตุการณ์ต่างๆ คอยดูแลพระเทวรูป และประกอบพิธีกรรมด้วย




ถ้าหากว่าพวกนอร์สอยู่ในข่ายนี้ บรรดาเทวสถานและเทวรูปที่เป็นงานฝีมือชั้นสูงซึ่งพวกเขาคงทำไว้ไม่มากนักก็คงถูกทำลายไปในการสงคราม ซึ่งสมัยนั้นเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ผู้ที่รบชนะก็มักเผาทำลายอาคารบ้านเรือนต่างๆ ของผู้แพ้

ที่เหลือรอดมาได้ก็อาจถูกดัดแปลงเป็นโบสถ์คริสต์ ซึ่งบางแห่งมีหลักฐานว่าอาจเป็นที่ประดิษฐานเทวรูปอาซาทรูมาก่อน หรือไม่ก็ถูกเผาทิ้งไปด้วยฝีมือของนักบวชคริสต์เช่นกัน

อันที่จริง ผู้สนใจเรื่องราวต่างๆ ของชาวนอร์ส คงทราบกันดีอยู่แล้วว่าคนเหล่านี้มีศาสนสถานซึ่งโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ไม่ซ้ำแบบใคร 

กล่าวคือมีลักษณะเป็นปราสาทก่อด้วยไม้ทั้งหลัง รูปแบบสถาปัตยกรรมโดยทั่วไปเหมือนกับวัดบางแบบของชาวไทยใหญ่ทางภาคเหนือของเราไม่มีผิดครับ ไม่ว่าจะเป็นหลังคาลดชั้น หอคอยมีหลังคายอดแหลม ช่อฟ้า และรูปทรงอาคารที่ดูเหมือนกันแทบทุกอย่าง




รูปแบบที่พ้องกันเช่นนี้ ยังไม่มีผู้อธิบายนะครับว่าเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ในเมื่อชาวไวกิ้งไม่เคยเดินทางมาถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้ว่าพวกเขาจะมาไกลถึงรัสเซียก็ตาม อีกทั้งศาสนสถานแบบนี้หลังเก่าที่สุดที่เหลืออยู่ก็เก่าแก่กว่าวัดไทยใหญ่หลังเก่าที่สุดที่เรารู้จักกันมาก

และข้อสำคัญ  ศาสนสถานอันมีลักษณะเฉพาะนี้ ไม่มี เครือญาติทางสถาปัตยกรรมในที่อื่นใดของยุโรป ที่เพียงพอจะสันนิษฐานว่า เป็นวิวัฒนาการที่เกิดขึ้นอย่างเป็นลำดับขั้นตอนในวัฒนธรรมยุโรปเลยครับ

ปัจจุบัน ศาสนสถานเหล่านี้ล้วนเป็นโบสถ์คริสต์ทั้งสิ้น แม้บางแห่งอาจมีร่องรอยว่าเป็นเทวสถานมาก่อนแต่ก็ไม่ชัดเจน ถึงกระนั้นเมื่อดูจากความเชี่ยวชาญในการก่อสร้างก็พอจะกล่าวได้ว่า เป็นความรู้ที่ชาวนอร์สมีมาก่อนรู้จักศาสนาคริสต์

ดังนั้น จึงมีผู้สันนิษฐานว่าเทวาลัยของชาวนอร์สในสมัยโบราณอาจมีรูปแบบเช่นเดียวกันนี้ก็เป็นได้นะครับ

การประกอบพิธีกรรมต่างๆ ของพวกนอร์ส มักมีเวทมนต์เข้ามาเกี่ยวข้อง เวทมนต์และมายาศาสตร์ของชาวนอร์สมีอยู่ 3 ประเภท ได้แก่ รูนส์ (Runes) กัลเดอร์ (Galdr) และ ซีเธอร์ (Seidhr)

รูนส์ เป็นเทพพยากรณ์ชนิดหนึ่ง ซึ่งผมเขียนถึงไปหลายบทความแล้วก่อนหน้านี้นะครับ เป็นศาสตร์ของผู้วิเศษในวัฒนธรรมนอร์ส ซึ่งถ้าเป็นหญิงจะเรียกกันว่า เวิลวา (Völva)




กัลเดอร์ เป็นการใช้เวทมนต์คาถาซึ่งมักอยู่ในรูปของโศลกหรือบทกวี รวมทั้งเพลงขับร้อง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของพิธีปฏิบัติบูชาในเทศกาลต่างๆ

เป็นศาสตร์แห่งพิธีกรรมในระดับชุมชนขึ้นไปครับ เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของการบวงสรวงสังเวย และการบูชายัญ รวมทั้งการร่ายโศลกบอกเล่าเรื่องราวอันศักดิ์สิทธิ์ของเทพเจ้า เพื่อปลุกปลอบกำลังใจและความกล้าหาญ




ผู้วิเศษที่ใช้กัลเดอร์ ส่วนมากจะเป็นนักปราชญ์ หรือคีตธรมาก่อน กล่าวกันว่า พลังอำนาจของกัลเดอร์นั้นมีมาก สามารถหยุดได้แม้แต่ฝูงชนที่กำลังบ้าคลั่ง หรือจะทำให้ฝูงชนบ้าคลั่งก็ได้ตามต้องการ

ส่วน ซีเธอร์ เป็นศาสตร์ของผู้หญิงโดยเฉพาะ ส่วนมากใช้ปลุกเสกอาวุธ เครื่องราง และเรือรบ เพื่อให้มีพละกำลัง ความกล้าหาญ ความคงทนต่อศาสตราวุธ ชัยชนะ และสุขภาพที่ดี

บางทีใช้ประกอบเครื่องยาสมุนไพรรักษาโรคต่างๆ ใช้เสกเป่าให้คลอดบุตรง่าย มีแม้กระทั่งมนตราสำหรับทำเสน่ห์ หรือแปลงร่าง มนต์ที่ใช้ในการถอดกายทิพย์ การเล่นแร่แปรธาตุสำหรับสร้างอาวุธ เครื่องราง และใช้เพื่อเพิ่มผลิตผลทางการเกษตร




ซีเธอร์นี่ละครับ เป็นพื้นฐานของวิชาแม่มดในยุโรปยุคกลางที่เรียกกันว่า Witchcraft ที่ถูกพวกคริสต์โง่เง่า+ป่าเถื่อนไล่ฆ่าล้างผลาญจนยุโรปเข้าสู่ยุคมืด แล้วในที่สุดฝรั่งก็เลยโง่เบ็ดเสร็จทั้งในด้านการใช้เวทมนต์ และวิชาสมุนไพร (รวมทั้งล้างสมองคนทั่วโลกให้โง่ตาม) จนถึงทุกวันนี้

ในศาสตร์ทั้งสามนี้ ผู้ที่ใช้รูนส์และกัลเดอร์ จะนับถือจอมเทพโอดินเป็นบรมครู ส่วนผู้ใช้ซีเธอร์ จะนับถือมหาเทวีเฟรยาเป็นบรมครูครับ



……………………………



หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด

ศาสนาดั้งเดิมของชาวนอร์ส





ลัทธิศาสนาดั้งเดิมของพวกนอร์สเผ่าต่างๆ ในสแกนดิเนเวีย มีศัพท์เรียกว่า อาซาทรู (Asatru) หรือ โอดินนิสม์ (Odinism)

ลัทธิศาสนาที่ว่านี้ นักศาสนศาสตร์รุ่นเก่ามักตัดสินว่าเป็นศาสนาที่ตายแล้ว คือไม่มีผู้นับถือครับ

แต่ปัจจุบันนี้กลับได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอเมริกาและแคนาดา และกำลังมีความพยายามผลักดันให้เป็นศาสนาที่เป็นทางการ เช่นเดียวกับ ศาสนาดรูอิดส์ (Druids) ของพวกไอริชที่ได้รับการยอมรับไปแล้ว

ศาสนิกชนที่นับถืออาซาทรู เรียกกันว่า อาซาทรูเออร์ (Asatruer, Asatruar) หรือ โอดินนิสต์ (Odinnist)

ในทางศาสนศาสตร์ ย่อมถือว่าลัทธิศาสนาอาซาทรูเป็นศาสนาฝ่ายเทวนิยมศาสนาหนึ่ง โดยบูชา จอมเทพโอดิน (Odin) เป็นเทพสูงสุด




จอมเทพองค์นี้ ผมกล่าวถึงแล้วหลายครั้ง เคยโพสต์บทความเกี่ยวกับพระองค์ท่านโดยเฉพาะด้วย ไปหาอ่านกันดูนะครับ ท่านเป็นครูของศาสตร์แห่งรูนส์

เทพอื่นที่ได้รับการนับถือรองลงมา และมักได้รับการอัญเชิญในพิธีกรรมต่างๆ ร่วมกับจอมเทพโอดิน คือ มหาเทพเฟรย์ (Frey) เทพแห่งการกสิกรรม, มหาเทวีเฟรยา (Freya) เทวีแห่งความอุดมสมบูรณ์ และ มหาเทพธอร์ (Thor) เทพแห่งสายฟ้า

ทั้งสี่องค์นี้ได้รับการบูชาทั่วไปในวัฒนธรรมนอร์ส ซึ่งแม้จะต่างเผ่าต่างภาษากัน แต่ก็นับถือพระเป็นเจ้าองค์เดียวกัน เป็นแต่ออกพระนามต่างกันไปบ้างตามสำเนียงของแต่ละภาษา

นอกจากมหาเทพดังกล่าวมานี้ ยังมีเทพอื่นอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งรวมเรียกว่า เอเซียร์ (Aesir) และยังมีเทพลึกลับอยู่อีกวงศ์หนึ่ง เรียกว่า วาเนียร์ (Vanir)

ความแตกต่างระหว่างเทพทั้งสองวงศ์นี้ก็คือ คณะเทพเอเซียร์เป็นเทพแห่งแสงสว่างและการสงคราม ประทับอยู่ในแดนสวรรค์ที่เรียกกันว่า อัสการ์ด (Asgard :สำเนียงอังกฤษ-อเมริกันว่า แอสการ์ด, สเวนสคาว่า ออสกวร์ด) จัดเป็นเทพที่ใกล้ชิดมวลมนุษย์ที่สุด จึงมีเรื่องราวในเทวปกรณ์ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจของนักผจญภัยชาวนอร์สและนักรบไวกิ้ง




ขณะที่คณะเทพวาเนียร์นั้นเป็นเทพแห่งความอุดมสมบูรณ์ ผู้ชำนาญการใช้เวทมนต์ ประทับอยู่ในโลกที่ลึกลับอีกโลกหนึ่ง เรียกว่า วานาไฮม์ (Vanaheim: สำเนียงสเวนสคาว่า วอนาเฮม) และไม่มีบทบาทมากนัก ยกเว้นบางองค์ที่เข้ามาประทับในอัสการ์ดร่วมกับคณะเทพเอเซียร์

เทพเจ้าต่างๆ ในลัทธิศาสนาอาซาทรูมีที่มาที่ไม่เหมือนกันหรอกครับ บางองค์มาจากเทพเจ้ารุ่นเก่าที่เคยมีอยู่แล้วในยุโรป บางองค์เป็นอีกภาคหนึ่งของเทพแห่งความอุดมสมบูรณ์ บางองค์ได้รับมาจากเทววิทยากรีก-โรมัน หรือแม้แต่บางองค์ก็เกิดจากการสร้างสรรค์ของเหล่ากวีและนักขับลำนำ

เทพกลุ่มหลังสุดนี้ ยังไม่มีผู้สัมผัสทิพยภาวะได้มากพอที่จะเป็นข้อยุติ หรือเป็นมาตรฐานในทางเทววิทยา ดังนั้นแม้จะทรงมีบทบาทอยู่บ้างในเทพนิยาย แต่ก็ยังไม่เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่าทรงมีตัวตนอยู่จริง เป็นเพียงความเชื่อเฉพาะบุคคล หรือเฉพาะบางสำนักเท่านั้นครับ

แม้ว่า ลัทธิศาสนาอาซาทรูจะมีเทวปกรณ์เล่าเรื่องกำเนิดโลกและมนุษย์ โดยการสร้างสรรค์ของพระเป็นเจ้าสูงสุด เช่นเดียวกับศาสนาโบราณอื่นๆ แต่ทวยเทพนั้นไม่เป็นอมตะ แม้แต่จอมเทพโอดินผู้ทรงเป็นพระเป็นเจ้าสูงสุด ก็ทรงหยั่งรู้ในชะตากรรมของพระองค์ และเทพเจ้าทั้งหลาย รวมถึงสรรพสิ่งที่จะต้องถูกทำลายลงแทบทั้งหมดในวันโลกาวินาศ หรือ รักนาร็อค (Ragnarok)



         
หากก่อนจะถึงเวลานั้น พระองค์และปวงเทพก็ทรงเฝ้าถนอมโลกที่ทรงสร้างขึ้นมาอย่างดีที่สุด เพื่อว่าเมื่อถึงวันโลกาวินาศ จะได้มีเทพเจ้าและมนุษย์บางส่วนที่เหลือรอดไปสร้างโลกยุคใหม่ที่มีแต่ความสงบสุข เป็นยุคทองอันแท้จริงของมนุษย์ เช่นเดียวกับที่ชนชาติอื่นๆ ใฝ่ฝันร่วมกัน

เมื่อนับถือศาสนาที่เน้นสัจธรรมของความไม่จีรังยั่งยืน และการมุ่งมั่นกระทำในสิ่งที่ควรทำจนกว่าชีวิตจะหาไม่ อุดมคติของชาวนอร์สทั้งปวงจึงตั้งอยู่ที่การใช้ชีวิตอย่างคุ้มค่า

คือการได้ออกไปผจญภัย ต่อสู้อย่างกล้าหาญ ปฏิบัติงานตามที่ได้รับมอบหมายหรือร้องขอ และถือสัจจะยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด เพื่อจะได้ตายในสนามรบอย่างมีเกียรติ และคนรุ่นหลังนำเรื่องของตนไปเล่าสืบต่อกันในฐานะวีรชน

ชาวนอร์สเชื่อว่า การตายอย่างมีเกียรติในการสงคราม หรือด้วยการทำหน้าที่อย่างดีที่สุดนี่ละครับ ยังจะทำให้จอมเทพโอดินทรงพิจารณาคัดเลือกดวงวิญญาณของพวกเขาขึ้นสวรรค์ ไปสู่ดินแดนซึ่งผู้กล้าเท่านั้นที่จะได้ไป เรียกว่า วัลฮัลลา (Valhalla) เพื่อรวมกันเป็นกองกำลังที่จะทำการรบเคียงบ่าเคียงไหล่เหล่าเทพเจ้าในวันสิ้นโลก อันจักบังเกิดในอนาคตกาลพร้อมกับการมาถึงของกองทัพยักษ์ ซึ่งในลัทธิศาสนาอาซาทรูถือว่า เป็นพลังอำนาจอันชั่วร้ายที่จะมาทำลายสรรพสิ่งให้สูญสิ้นไป




ชีวิตในวัลฮัลลา คือสวรรค์ในอุดมคติของชาวนอร์ส แต่ละวัน เหล่านักรบผู้กล้าหาญจะต่อสู้กันด้วยดาบและอาวุธต่างๆ เพื่อเป็นการประลองฝีมือ ทุกบาดแผลที่เกิดจากการต่อสู้จะมลายหายไปสิ้นเมื่อตะวันตกดิน และผู้ที่เพลี่ยงพล้ำจนถึงแก่ความตายจะกลับฟื้นคืนชีพอีกครั้ง

ยามค่ำคืน นักรบทุกคนจะได้เข้าไปสังสรรค์กันในท้องพระโรงของวัลฮัลลา ซึ่งมีอาหารและสุราเลิศรสให้ดื่มกินอย่างไม่มีวันหมดสิ้น




อุดมคติเช่นนี้ เป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้ชาวไวกิ้งแล่นเรือฝ่าคลื่นลม และความโหดร้ายของท้องทะเลที่ยากจะมีผู้ใดผ่านพ้น จนพิชิตบ้านเมืองต่างๆ สร้างความครั่นคร้ามไปทั่วยุโรปโดยไม่มีผู้ใดต้านทานได้เป็นเวลายาวนานกว่า 300 ปี

ถ้าจะว่ากันตามความเป็นจริงแล้ว ยุคเสื่อมของไวกิ้งก็มาถึงพร้อมกับการที่พวกเขาละทิ้งอุดมการณ์ และลัทธิศาสนาดั้งเดิมของพวกเขานั่นเอง

องค์ประกอบอันสำคัญยิ่งของลัทธิศาสนาอาซาทรู จึงเป็นเทพนิยาย (Mythology) ซึ่งนิยมนำมาเล่าขานกันทั่วไปทุกชั้นวรรณะ ไม่ว่าจะเป็นชนชั้นปกครอง กษัตริย์ ขุนนาง ซึ่งชื่นชอบคุณลักษณะแห่งความเป็นนักปราชญ์ แต่ขณะเดียวกันก็เป็นผู้ทรงอำนาจสูงสุดของจอมเทพโอดิน

ในขณะที่พวกผู้หญิงซึ่งใฝ่ฝันถึงความสวยงาม ความมีอิสระเสรีไม่อยู่ใต้อาณัติผู้ใดของมหาเทวีเฟรยา




ในอีกภาคส่วน เทพนิยายอันมีสีสันของมหาเทพธอร์ ผู้ทรงพลังยิ่งกว่าเทพองค์ใดในอัสการ์ด ก็ให้แรงบันดาลใจแก่นักรบและนักแสวงโชคไวกิ้ง ในการมุ่งหน้าสู่ดินแดนที่ตนไม่รู้จัก

ด้วยเหตุนี้ สังคมนอร์สจึงให้ความสำคัญกับคนที่มีความรู้ ซึ่งได้แก่เหล่ากวี นักขับลำนำ และปรัชญาเมธีเป็นอย่างมากครับ ถึงขนาดที่ว่ากวีที่มีไหวพริบเป็นเยี่ยม (ปฏิภาณกวี) จะได้รับการยกย่องเสมอด้วยนักดาบที่มีฝีมือสูงส่งทีเดียว

เพราะเหตุว่า คนเหล่านี้คือผู้จาริกไปในที่ต่างๆ ที่ชาวนอร์สบุกเบิกเข้าไป นำเทพนิยายต่างๆ ไปเล่าขาน ซึ่งแม้เหล่านักรบไวกิ้งผู้โหดเหี้ยมที่สุดก็พอใจที่จะได้ฟังในยามที่พวกเขาว่างเว้นจากการต่อสู้




นักเล่านิยายเหล่านี้ เป็นชาวนอร์สพวกเดียวเท่านั้นครับที่อ่านออกเขียนได้ และเมื่อนำเทพนิยายไปเล่าขานที่ใด ผู้ฟังก็มีความคาดหวังที่จะให้พวกเขาเป็นผู้นำชื่อเสียงและวีรกรรมของตนไปเล่าให้ผู้อื่นในที่ห่างไกลได้ฟังบ้างเช่นกัน

กวีและนักปราชญ์พเนจรชาวนอร์ส จึงเป็นผู้เก็บรักษาเทวปกรณ์และตำนานวีรบุรุษไว้ได้มาก และบ่อยครั้งที่พวกเขาจะรจนาเรื่องราวใหม่ๆ เพิ่มเติมเข้าไป โดยดัดแปลงจากเทพนิยายกรีก-โรมัน ซึ่งเป็นแหล่งความรู้สำคัญในสมัยเริ่มอารยธรรมนอร์ส

เทวปกรณ์อาซาทรู จึงมีเนื้อหาบางอย่าง และเทพเจ้าบางองค์คล้ายกับที่มีอยู่ในเทพนิยายกรีก-โรมันสอดแทรกอยู่เสมอ แม้จะไม่ใช่ส่วนสำคัญของคติความเชื่อทั้งหมดก็ตาม ตรงนี้ผู้ศึกษาเทววิทยาอาซาทรูจะสังเกตเห็นอยู่บ่อยๆ ครับ

สำหรับชาวนอร์สทั่วไปที่มิได้เป็นนักผจญภัยหรือนักแสวงโชค ก็มีความผูกพันกับเทพเจ้าในฐานะที่เป็นวิถีชีวิตอย่างหนึ่งเช่นกัน มีแม้กระทั่งการนับถือเทพประจำตระกูล ประจำสาขาอาชีพ และมีการประกอบพิธีกรรมในช่วงเวลาสำคัญของแต่ละปี โดยมีหลักเกณฑ์แน่นอนไม่แพ้ศาสนาเทวนิยมอื่นๆ




Wednesday, November 18, 2015

มหาเทวีเฟรยา : เทวีแห่งความอุดมสมบูรณ์และมายาศาสตร์


ในลัทธิศาสนาอาซาทรู ไม่มีเทพนารีองค์ใดเลยครับ ที่จะทรงเป็นที่รักของผู้คนทั้งหลายยิ่งไปกว่า มหาเทวีเฟรยา (Freya) ไม่ว่าจะในทางเทวปกรณ์ หรือในโลกแห่งความเป็นจริง




มหาเทวีเฟรยา ทรงเป็นเสมือนธิดาแห่งกาลเวลาทั้งหมด พระนางทรงมีคุณสมบัติที่หลากหลายอย่างยิ่ง ทรงได้รับการสรรเสริญว่างดงามเหนือกว่าเทพนารีทุกองค์ในอัสการ์ด ทรงมีพระเกศาสีทองเป็นประกาย พระพักตร์งามสดใส เรือนร่างบอบบางเปี่ยมด้วยความเย้ายวนน่าลุ่มหลงภายใต้พัสตราภรณ์น้อยชิ้น สะกดทุกคนที่เห็นให้ตกเป็นทาสของพระนางได้ในชั่วไม่กี่วินาที

พระนางทรงเป็นเทวีแห่งความรักและกามารมณ์ พระนางมอบเสน่หาและพลังแห่งความน่าหลงใหลแก่สาวรุ่น พระนางดลบันดาลให้ชายหญิงปรารถนาในกันและกัน และทรงถนอมความรักของทั้งสองให้เอิบอาบไปด้วยความพึงพอใจซึ่งกันและกันเรื่อยไป ภายใต้กฎแห่งเสรีภาพและความเสมอภาค

และตามเทวปกรณ์แห่งอาซาทรู พระนางก็ทรงเกี่ยวข้องด้วยความรักอย่างมากมายจริงๆ ครับ

แม้ว่าจะทรงมีพระสวามี แต่พระสวามีนั้นก็แทบจะไร้ตัวตน และพระนางก็ปรากฏพระองค์อย่างอิสระเสมอ ไม่ผูกพันกับใคร และไม่มีใครที่จะมีอิทธิพลต่อการตัดสินพระทัยของพระนางยิ่งไปกว่าพระนางเอง

พระนางทรงเป็นผู้ควบคุมความอุดมสมบูรณ์ของสรรพสิ่งด้วย พระนางบันดาลให้ท้องทุ่งเขียวขจี เปลี่ยนพื้นดินรกร้างไร้ชีวิตให้กลายเป็นอุทยานดอกไม้




พระนางทรงสวมสร้อยพระศอ บรีซิงกาเมน (Brisingamen) ที่กล่าวกันว่างดงามที่สุดในจักรวาล ซึ่งเปี่ยมไปด้วยพลังอำนาจแห่งความอุดมสมบูรณ์ที่ไม่มีวันถ่ายถอน มีเรื่องราวมากมายเกิดขึ้นจากสร้อยพระศอนี้ พระนางต้องทรงกระทำหลายอย่างที่ไม่ทรงคิดว่าจะทำมาก่อนเพราะมัน

ในขณะเดียวกับที่ทรงผูกพันอยู่กับเรื่องของความสวยงาม ความรัก และความอุดมสมบูรณ์ เทพนารีองค์นี้ก็ทรงมีอีกด้านหนึ่งที่น่าสะพรึงกลัวแฝงอยู่ด้วยครับ

เพราะพระนางทรงเป็นนางพญา ผู้ควบคุมกองทัพนางฟ้าแห่งสงคราม หรือ วัลคีรีส์ (Valkyrie) ผู้คัดเลือกดวงวิญญาณเหล่านักรบ กล่าวอย่างง่ายที่สุดก็คือ ทรงมีอำนาจเต็มในการพิพากษาว่าใครควรจะอยู่หรือควรจะตายนั่นเอง





ตำแหน่งนางพญาแห่งวัลคีรีส์นี้ ยังทำให้พระนางทรงได้รับสิทธิ์ในการแบ่งดวงวิญญาณนักรบถึงครึ่งหนึ่ง จากทั้งหมดที่ได้จากการรบแต่ละครั้ง เพื่อนำไปฝึกฝนการใช้ไสยเวทมนตราเป็นพิเศษ ณ ปราสาทของพระนาง คือ เซสสเรียมเนียร์ (Sessrymnir) อยู่ในอาณาจักรที่เรียกกันว่า โฟล์ควัง (Folkwang) 

นอกจากนี้ ปราสาทดังกล่าวก็ยังเป็นสถานที่ต้อนรับดวงวิญญาณของภรรยาที่ฆ่าตัวตายตามสามี หรือตายเคียงบ่าเคียงไหล่กับสามีในการสู้รบอีกด้วย

เซสสเรียมเนียร์ จึงเป็นประจักษ์พยานของความเท่าเทียมกัน ระหว่างหญิงและชายในสังคมนอร์ส ในฐานะของความเป็นผู้กล้า ซึ่งยากจะหาได้ในวัฒนธรรมอื่น 

และมหาเทวีเฟรยา ก็ทรงปกครองทุกดวงวิญญาณในปราสาทของพระนางอย่างดีที่สุด จนกล่าวได้ว่า เหล่าวีรชนเมื่อตายแล้วพึงหาความสุขอย่างล้นเหลือได้ในวัลฮัลลา แต่ที่ซึ่งเป็นความผาสุกอย่างแท้จริงนั้น อยู่ในเซสสเรียมเนียร์ 

และด้วยฐานะเช่นนี้ละครับ พระนางจึงกลายเป็นเทพนารีผู้ทรงอำนาจสูงสุดในหมู่เทพยดาแห่งวัลฮัลลา

มหาเทวีเฟรยา ยังทรงเป็นคุรุเทพแห่งศิลปะการใช้เวทมนต์ ที่เรียกว่า ซีเธอร์ (Seidhr) ซึ่งเป็นไสยเวทอีกชนิดหนึ่งที่มีอยู่ในมายาศาสตร์สแกนดิเนเวียนอกเหนือไปจาก Runes Magic ซึ่งเป็นของจอมเทพโอดิน 

ซีเธอร์เป็นมายาศาสตร์ที่ถ่ายทอดกันในหมู่ผู้ใช้เวทมนต์ที่เป็นสตรี ดังนั้นมหาเทวีเฟรยาในฐานะนี้ จึงได้รับการบูชาในฐานะของผู้คุ้มครองนักไสยเวทหญิงทั้งปวง รวมทั้งผู้หญิงทุกคนที่แสวงหาปรีชาญาณ สถานภาพ และพลังอำนาจ





ในสมัยโบราณ ชาวนอร์สมักเรียกกลุ่มดาวสำคัญกลุ่มหนึ่งที่สุกสว่างบนท้องฟ้าแลเห็นได้ชัดในฤดูหนาวว่า พัสตราภรณ์ของมหาเทวีเฟรยา (Freya’s Gown) ทุกวันนี้เรารู้จักกลุ่มดาวนี้ในชื่อกลุ่มดาว โอไรออน (Orion)

ซึ่งในส่วนที่นิยมเรียกกันว่า เข็มขัดของโอไรออน (Belt of Orion or Sword Belt) นั้น ชาวนอร์สก็เคยเรียกกันว่า สายคาดเอวของมหาเทวีเฟรยา (Freya’s Girdle) ด้วย

เพราะฉะนั้น ในทางโหราศาสตร์บางแขนงจึงถือกันว่า มหาเทวีเฟรยาครองกลุ่มดาว Ursa Minor ซึ่งมีกลุ่มดาวโอไรออนเป็นใหญ่ดังกล่าว


ในสายวิชารูนส์ที่ผมศึกษามา บูชาจอมเทพโอดินกับมหาเทวีเฟรยาเป็นบรมครูครับ




……………………………


หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด