Tuesday, December 26, 2017

เพนธีซิเลีย ราชินีแห่งอเมซอน





สาวกเทพปกรณัมกรีก ที่ชอบ Wonder Woman ฉบับ Gal Gadot

ผมว่าหลายคนต้องนึกถึง เพนธีซิเลีย (Penthesilea/: Πενθεσίλεια) ราชินีแห่งชนเผ่าอเมซอน (Amazon/ Αμαζόνα) กันบ้างละครับ

พระนางทรงเป็นธิดาของเทพเจ้าแห่งสงคราม อารีส (Ares/ Άρης : พระนามโรมันว่า Mars) กับราชินี โอเทรรา (Otrera) ผู้ก่อตั้งชนเผ่าอเมซอน

ทรงเป็นพระธิดาองค์สุดท้อง โดยมีทรงพระเชษฐภตินีได้แก่ ฮิพโพลิตา (Hippolyta/ Ιππόλυτα), อันติโอปี (Antiope/ Αντίπο) และ เมลานิพปี (Melanippe)

เล่ากันว่า ในการล่ากวางครั้งหนึ่ง เพนธีซิเลียพุ่งหอกพลาดไปโดนฮิพโพลิตา พระเชษฐภคินีพระองค์ใหญ่สิ้นพระชนม์ อุบัติเหตุครั้งนี้ ทำให้พระนางเสียพระทัยอย่างที่สุด และทรงปรารถนาที่จะตายตกไปตามกัน

แต่ในธรรมเนียมของอเมซอน การฆ่าตัวตายนั้นเป็นเรื่องน่าอดสูครับ สาวอเมซอนจะต้องตายกลางสนามรบเท่านั้น จึงจะเรียกได้ว่ามีเกียรติ




และเพนธีซิเลียก็ไม่ต้องเสียเวลารอนานนัก เมื่อ อคิลลิส (Achilles/ Αχιλλεύς) ยอดขุนพลแห่งกรีก ได้สังหาร เจ้าชายเฮ็คเตอร์ (Hector/ Έκτορας กรีกออกเสียงว่า เอ็คโตราส) แห่งทรอย และย่ำยีพระศพของเจ้าชายด้วยการผูกติดกับรถศึก ลากไปรอบกำแพงกรุงทรอย ก่อนจะกลับไปยังฐานที่มั่นฝ่ายตน

ด้วยความแค้นที่ ปาโตรคลุส (Patroclus/ Πάτροκλος) เพื่อนรัก ถูกเฮ็คเตอร์สังหารก่อนหน้านั้นนั่นเอง

ความป่าเถื่อนของอคิลลีส ทำให้เหล่าทหารทรอยหมดกำลังใจที่จะรบ

พระเจ้าไพรอัม (Priam/ Πρίαμος กรีกออกเสียงว่า พรีอาโมส) กษัตริย์ผู้ทรงธรรม พระบิดาของเจ้าชายเฮ็คเตอร์ ผู้ทรงสูญเสียมากที่สุด แต่ยังคงต้องปกป้องบ้านเมืองของพระองค์ จึงทรงขอความช่วยเหลือจากราชินีเพนธีซิเลีย

องค์ราชินีทรงตอบรับทันที เพราะนอกจากทรงรอคอยที่จะสร้างวีรกรรมครั้งสุดท้ายในสนามรบอยู่แล้ว ก็ยังทรงเกลียดชังอคิลลีส ทั้งจากชื่อเสียงแห่งความยะโสโอหังของเขา และพฤติกรรมที่เขากระทำกับพระศพของเฮ็คเตอร์ด้วยครับ

พระนางจึงทรงนำนักรบหญิงอเมซอนจำนวนเพียงหยิบมือ (ในตำนานว่าเพียง 12 คนเท่านั้น) เข้าจู่โจมกองทัพกรีก ด้วยความรวดเร็วประดุจสายฟ้าแลบ ซึ่งเป็นศิลปะการรบแบบอเมซอน

เล่ากันว่า วิทยายุทธของเพนซีซิเลียนั้น เด็ดชีพขุนศึกและทหารกรีกไปหลายศพ แม้แต่ยอดฝีมือฝ่ายกรีกอย่าง อะแจ๊กซ์ (Τελαμονικός Ajax) ยังต่อกรไม่ไหวครับ

อคิลลีสจึงต้องออกมาเผชิญหน้ากับราชินีแห่งอเมซอน




ตำนานกรีกเล่าว่า ทั้งสองต่อสู้กันอยู่นาน เกือบจะพอๆ กันกับการต่อสู้ระหว่างอคิลลีสกับเฮ็คเตอร์ ก่อนที่องค์ราชินีจะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในที่สุด

แต่ในบางตำนานก็ว่า อคิลลีสไม่ต้องใช้เวลามากนักหรอกครับในการต่อสู้ เพียงพุ่งหอกครั้งเดียวด้วยกำลังมหาศาล หอกเล่มนั้นก็ทะลุทั้งม้าทรง และพระอุระของราชินีแห่งอเมซอน

พระนางสิ้นพระชนม์กลางสนามรบ ดังที่ตั้งพระทัยไว้

ส่วนทหารอเมซอนที่พระนางทรงนำไป ก็ถูกทหารกรีกสังหารหมดสิ้นเช่นเดียวกัน

เมื่ออคิลลีสดึงหมวกเหล็กของพระนางออก เขาถึงกับตกตะลึงที่เห็นว่าทรงเป็นสตรีเพศ และรู้สึกผิดที่ฆ่าผู้หญิง

และบางตำราก็ว่า เขาหลงใหลในความงามของพระนาง จนนำพระศพกลับไปชื่นชมในที่พักของตน

แต่เรื่องนี้มีผู้วิจารณ์ว่า บางทีก็อาจไม่ใช่ว่าหลงใหลอะไรนักหรอกนะครับ เพียงแต่ในฐานะนักรบ อคิลลีสชอบคู่ต่อสู้เก่งๆ และพอใจจะให้เกียรติด้วยการตกแต่งศพให้อย่างดี ก่อนจะทำพิธีเผามากกว่า

ทำไมคนคนเดียวกันนี้ ซึ่งกระทำย่ำยีพระศพของเจ้าชายเฮ็คเตอร์อย่างป่าเถื่อน กลับให้เกียรติองค์ราชินีถึงเพียงนี้ได้?

คำตอบก็คือ มันคนละบริบทกันน่ะครับ

กรณีของเฮ็คเตอร์ เป็นเพราะความแค้นที่ทรงสังหารเพื่อนรัก ที่เติบโตมาด้วยกัน

แต่กรณีของเพนธีซิเลีย คือคู่ต่อสู้ที่เป็นหญิงเก่งมากๆ ซึ่งอคิลลีสไม่คาดหมายมาก่อนว่าจะได้มีโอกาสพบเจอในสมรภูมินี้




แต่การที่เขาปฏิบัติต่อพระศพเป็นอย่างดี ก็ทำให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในกองทัพกรีก เมื่อนายทหารกรีกคนหนึ่ง คือ เธร์ซิตีส (Thersites/ Θέρσιτες) พูดจาเย้ยหยัน จนถูกอคิลลีสฆ่าตาย

ไดโอมีดีส (Diomedes) ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องของเธร์ซิตีส โกรธมาก จึงนำพระศพของเพนธีซิเลียพ่วงกับรถศึก และลากไปเช่นเดียวกับที่อคิลลีสทำกับศพเฮ็คเตอร์

ซึ่งอคิลลีสก็ตามไปสังหารไดโอมีดีส ชิงพระศพคืนมาทำพิธีถวายพระเพลิง และฝังพระอัฐิอย่างสมพระเกียรติ

การกระทำของอคิลลีส ต่อเพนธีซิเลีย เป็นสิ่งที่ชาวกรีกประทับใจมาก ดังมีบันทึกไว้ว่า ณ บัลลังก์ที่ประทับของ จอมเทพซีอุส (Zeus) ใน มหาเทวาลัยแห่งโอลิมเปีย (Olympia) ซึ่งเป็นหนึ่งสิ่งมหัศจรรย์ทั้งเจ็ดแห่งโลกโบราณนั้น มีการตกแต่งด้วยภาพเขียน ตอนอคิลลีสประคองพระศพของเพนธีซิเลียยู่ด้วย

ครับ, เรื่องราวของพระนางเพนธีซิเลีย ราชินีแห่งอเมซอนก็มีอยู่เพียงเท่านี้




ภาพข้างบนนี้ เป็น figure model ของราชินีเพนธีซิเลีย ผมว่าเขาออกแบบโมเดลได้สวย แต่พระพักตร์ไม่งามเท่าที่ควร ทั้งๆ ที่ในตำนานนั้น ทรงพระสิริโฉมมาก

ต่อไปนี้ ผมก็จะขอพูดถึงชนเผ่าอเมซอนแบบจัดเต็มละครับ

แต่ก่อนจะเข้าสู่สาระสำคัญ ขอพูดเรื่องชื่อของชนเผ่านี้ก่อน

คือชื่อของชนเผ่านี้ เป็นภาษากรีก ซึ่งออกเสียงว่า อมาโซนา

ฝรั่งรุ่นเก่า โดยเฉพาะชาวอังกฤษ ออกเสียงว่า อะเมซเซิน

ไทยเราจึงทับสัพท์คำนี้ตามเสียงอังกฤษว่า อเมซอน ไงครับ

แล้วก็ใช้อย่างนี้กันมาเป็นสิบเป็นร้อยปั จนกระทั่งพวกเราได้ยืนฝรั่งรุ่นใหม่ โดยเฉพาะอเมริกัน ออกเสียงคำนี้ว่า แอมะซอน (เสียงจริง : แอมะเซิน)

ราชบัณฑิตยสถาน (ซึ่งทำภาษาวิบัติไปเป็นอันมากตลอด 20 ปีที่ผ่านมา) และสื่อไทยรุ่นใหม่ ซึ่งมี National Geographic ภาคภาษาไทย เป็นตัวนำ ก็เลยทับศัพท์คำนี้ว่า แอมะซอน กันไปหมด

ทั้งชื่อชนเผ่า ชื่อแม่น้ำ และป่าดงดิบในอเมริกาใต้

เขียนก็ไม่สวย อ่านก็ไม่เพราะ

แต่คนรุ่นใหม่ของเราก็ก้มหน้าก้มตา ยอมเป็นทาสทางปัญญาของฝรั่งไร้ราก ที่เผยแพร่วัฒนธรรมอุบาทว์ต่างๆ นานาไปทั่วโลก

ละทิ้งอักขรวิธี ที่คนรุ่นปู่ย่าตายายของเราสืบทอดจากฝรั่งที่ได้รับการยกย่องว่ามีวัฒนธรรมอันสูงส่ง ทั้งๆ ที่ของใหม่ก็ไม่ได้ดีกว่าเลยซัดนิด

ครับ, ใครว่าของเก่าเชย แล้วของใหม่บ้าๆ บอๆ ดูทันสมัยก็แล้วแต่ใจ ผมขอยึดมั่นของเก่าครับ เพราะอย่างน้อย คนรุ่นโน้นก็ฉลาดกว่าคนรุ่นนี้

ทีนี้ก็มาเข้าเรื่องกันซักทีละครับ




อเมซอน เป็นตำนานเล่าขานกันในหมู่ชาวกรีกโบราณ ว่าเป็นเผ่านักรบหญิงที่ทรงพลัง และมีทักษะการรบที่เก่งกาจไม่แพ้ผู้ชาย โดยเฉพาะการรบบนหลังม้า ไม่ว่าจะเป็นยิงธนู และการใช้หอก

พวกเธอมีส่วนร่วมอยู่ในตำนานสงครามกรีก เช่น ใน มหากาพย์อีเลียด (Ιλιάδα) ที่องค์ราชินีเพนธีซิเลียและนักรบอเมซอนอีก 12 คน ได้ประมือกับขุนศึกและทหารกรีก ก่อนที่พระนางจะสิ้นพระชนม์ด้วยฝีมือวีรบุรุษอคิลลีสไงครับ

หรือแม้แต่ในตำนานของจอมพลัง เฮอร์คิวลีส (Hercules/Ηρακλής กรีกออกเสียงว่า อิราครีส) ก็มีเรื่องราวของชาวอเมซอนรวมอยู่ด้วย

แต่เรื่องราวของชนเผ่าอเมซอน ที่เล่าขานต่อๆ กันมา มักสับสนปนเประหว่างเรื่องจริงกับเรื่องแต่ง จนไม่มีใครแยกออกได้

เรื่องหนึ่งก็คือ การเมืองการปกครอง และวิถีชีวิตของชาวอเมซอน ที่เพศหญิงเป็นใหญ่ที่สุดครับ

ว่ากันว่า สาวๆ อเมซอนทุกคนถูกฝึกให้ชินกับความลำบาก มาตั้งแต่ยังแบเบาะ ขนาดนมแม่ก็ยังไม่ได้กิน ต้องกิน นมม้า นะครับ

เพราะ ม้า คือวิถีชีวิตของชาวอเมซอน พวกเธอจะต้องหัดขี่ม้าตั้งแต่เด็กๆ พอรุ่นสาวขึ้นมาก็ใช้ชีวิตอยู่บนหลังม้าได้คล่องแคล่ว ราวกับม้าเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายเลยครับ

นักประวัติศาสตร์หลายคนเชื่อว่า อเมซอนเป็นพวกแรกที่เอาม้ามาเป็นพาหนะด้วยซ้ำไป หรืออย่างน้อยก็เป็นพวกแรกที่นำม้ามาใช้ในการรบอย่างเต็มรูปแบบ

แถมสาวอเมซอนยังได้รับเครดิตว่า เป็นพวกแรกที่คิดทำบังเหียนกับสเปอร์ (เดือยรองเท้าสำหรับสะกิดให้ม้าวิ่ง) ด้วยนะครับ

แต่จริงๆ แล้ว ม้าศึกของอเมซอนจะถูกใส่เครื่องม้าน้อยมาก เพื่อความคล่องตัวในการเคลื่อนไหว เชื่อกันว่ากรีกโบราณยุคแรกๆ ต้องเลียนแบบชาวอเมซอนนะครับ ในเรื่องการฝึกทหารม้า

นอกจากการคลุกคลีกับม้า และการเคี่ยวกรำให้เคยชินกัยความยากลำบากมาตั้งแต่ยังเด็ก สาวอเมซอนคนไหนโตขึ้นมา แล้วสามารถที่จะฝึกการต่อสู้ได้ ก็จะกลายเป็นนักรบของเผ่าต่อไป

ส่วนคนที่ไม่มีทักษะพอที่จะฝึกให้เป็นนักรบ ก็ทำหน้าที่ปลูกข้าว เลี้ยงสัตว์ เก็บของป่า เพื่อใช้เป็นอาหารกินกันในเผ่า




ความห้าวหาญของนักรบหญิงแห่งอเมซอน ยังทำให้เกิดเรื่องที่เล่ากันอย่างกว้างขวางว่า พวกเธอจะต้องตัดเต้านมออกข้างหนึ่ง เพื่อจะได้ไม่เกะกะเวลาง้างธนู หรือขว้างหอก

อย่างในตำนานของราชินีเพนธีซิเลีย ก็ถึงกับมีบางกระแสเล่าว่า พระนางตัดพระถันออกทั้งสองข้างเลยนะครับ

ก็ไม่รู้ว่า คนปล่อย และเชื่อข่าวลือแบบนี้เอาอะไรคิด

และถ้าราชินีเพนธีซิเลียทำอย่างนั้นจริง อคิลลีสจะลุ่มหลงเข้าไปได้อย่างไร

นักวิชาการเองก็บอกว่า เรื่องนี้คงเป็นการเล่าลือกันไปตามความฟุ้งฝัน+เหยียดสตรีเพศ ของนักเล่านิทานกรีก เท่านั้นแหละครับ ไม่ใช่อะไรอื่น

เพราะไม่มีหลักฐานอะไรรองรับ นอกจากคำกล่างอ้างของบุคคล ในภาพวาดโบราณก็ไม่เคยมีอะไรแบบนั้นถูกบันทึกไว้ด้วยซ้ำไป และเหตุผลที่อ้างก็ไม่เข้าท่าด้วย

ความเชื่อดังกล่าว อาจจะมาจากชุดศึกของพวกเธอ ที่สวมเสื้อเกราะทำจากหนังสัตว์แบบเปลือยไหล่ข้างหนึ่ง ซึ่งนักรบกรีกโบราณก็มีเสื้อเกราะชนิดเดียวกันนี้ใช้เหมือนกัน

เสื้อชนิดนี้ทำให้คล่องตัวเวลาต่อสู้ครับ แต่ถ้าฉีกขาด หรือตัดไม่พอดีตัวผู้สวม เมื่อรบไปนานๆ ก็อาจจะทำให้เกิดการเปลือยอกเพียงข้างเดียวได้




อีกเรื่องที่นิยมเล่ากันเกี่ยวกับชาวอเมซอน คือพวกเธอต้องดำรงพรหมจรรย์ไว้จนแทบจะพ้นวัยสาว จึงค่อยออกไปสมสู่กับบุรุษเพศจากต่างเผ่า เพื่อการมีลูกเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

ไม่มีพิธีการแต่งงาน หรือการใช้ชีวิตแบบครอบครัวใดๆ ทั้งสิ้น

และหากได้ลูกสาว ก็จะเลี้ยงไว้ในเผ่า

แต่หากได้ลูกชาย บ้างก็เล่าว่าเด็กมักจะถูกฆ่าทิ้งเสีย ไม่ก็ทำให้พิการ จะได้ออกรบไม่ได้ บ้างก็ว่าพวกเธอจะส่งกลับไปให้ทางพ่อเป็นฝ่ายเลี้ยงแทน

ซึ่งอย่างหลัง นักวิชาการมองว่า ดูจะมีเค้าความจริงมากที่สุดครับ

และเหมือนกับธรรมเนียมโบราณของชาว Nomadic ที่มักจะส่งลูกชายไปให้เผ่าอื่นเป็นผู้เลี้ยง เพื่อเป็นการผูกสัมพันธไมตรี และเพื่อป้องกันการสืบสกุลในหมู่สายเลือดเดียวกัน

ในตำนานกล่าวว่า เกาะที่เป็นที่อยู่ของชาวอเมซอน อยู่ทางตอนใต้ของทะเลดำ ถ้าใครเคยอ่านเรื่อง The Argonauts หรือ อภินิหารขนแกะทองคำ มันคือเกาะที่เรียกว่า เกาะแห่งอารีส (Island of Ares) นั่นเอง

ซึ่งเกาะดังกล่าวนี้ มีอยู่จริงครับ ปัจจุบันนี้มันคือเกาะ Giresun Island ของตุรกี




อย่างไรก็ตาม ในการขุดค้นทางโบราณคดีบนเกาะ แม้จะได้พบซากโบราณสถาน ก็ยังไม่เห็นความเชื่อมโยงกับชนเผ่าอเมซอนในตำนาน

เพราะซากโบราณสถานเหล่านั้น จัดอยู่ในวัฒนธรรมไบแซนไทน์ (Byzantine) และมีอายุเก่าที่สุดเพียง 400 ปีก่อนคริสตกาลเท่านั้นครับ

ในขณะที่นักโบราณคดีบางท่าน ก็สันนิษฐานว่า น่าจะเคยมีเผ่านักล่าสัตว์เร่ร่อน ที่มีสตรีเป็นใหญ่ และเป็นนักรบอยู่แถวทวีปแอฟริกาเหนือ กับบริเวณทุ่งหญ้าสเตปป์รอบๆ ทะเลดำ

โดยเฉพาะทางตะวันตกเฉียงเหนือ บริเวณยุโรปตะวันออกในปัจจุบัน

แต่เพราะความเป็นชนเผ่าเร่ร่อน จึงทำให้ไม่มีการค้นพบหลักฐานทางโบราณคดี ไม่ว่าจะเป็นซากอาคารบ้านเรือน หรือแม้แต่สุสานของชนเผ่านี้ ที่จะนำมาอ้างอิงใดๆ ได้เลย

บรรดาสุสานโบราณที่มีอยู่ประปรายในพื้นที่ดังกล่าว ส่วนใหญ่ยังไม่สามารถระบุได้อยางแน่นอนว่า เป็นของชนเผ่าใดบ้างด้วยซ้ำ

และชนเผ่าเร่ร่อน ที่มีสตรีเป็นใหญ่นี้ จะเรียกตัวเองว่าอะไร ก็ไม่มีหลักฐานเช่นกันครับ

เรารู้จักพวกเธอ (หรือพวกเขา) เพียงในชื่อ อเมซอน ซึ่งเป็นคำที่ชาวกรีกโบราณคิดขึ้นมาเท่านั้น

ส่วนคำว่า อเมซอน ซึ่งเป็นชื่อแม่น้ำและป่าดงดิบในทวีปอเมริกาใต้ ไม่เกี่ยวอะไรกับชนเผ่านี้หรอกครัย

เป็นเพียงชื่อที่นักล่าอาณานิคมสเปน ซึ่งเข้าไปสำรวจเมื่อราว 500 ปีก่อนโน้นเป็นผู้ตั้งให้ โดยเหตุที่พวกนี้คุ้นเคยกับตำนานกรีกและโรมัน เท่านั้นเอง



……………………………


หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด

Wednesday, December 13, 2017

ซาตาน ลูซิเฟอร์ ลิลิธ




ปริศนาข้อหนึ่ง ที่ยังความสับสนแก่สาธารณชนเป็นอันมาก คือ

ซาตาน กับ ลูซิเฟอร์ เป็นคนคนเดียวกันหรือไม่?

ขอไม่อารัมภบทนะครับ ตอบเลยก็แล้วกัน ว่าตามตำนานฮีบรูว์แล้ว "ไม่"

มารู้จัก ซาตาน (Satan) กันก่อนนะครับ

เชื่อกันว่าลัทธิเดิมของซาตาน คือเทพปีศาจองค์ใดองค์หนึ่ง ที่มีผู้นับถือกันอยู่แล้วในเมโสโปเตเมีย

ต่อมาก็ปรากฎพระนามของอัครเทวดา 3 องค์ ในพระคัมภีร์ของฮีบรูว์ ที่มักจะถูกกล่าวถึงว่าเป็นซาตานบ่อยๆ ในภายหลัง คือ

อาบัดดอน (Abaddon : Angel of the Abyss)

เบลเซบับ (Beelzebub : Lord of the Flies)

ซามาเอล (Samael : Poison of God) หรือ ซาตานิเอล (Sataniel )

ทั้งสามองค์นี้ล้วนมีรากฐานคติเดิม คือเป็นเทพปีศาจที่นับถือกันอยู่ในเมโสโปเตเมียทั้งนั้นเลยครับ

รูปลักษณ์ของซาตานแต่เดิมก็ไม่ชัดเจน เพราะมีหลายแบบ และส่วนใหญ่ถ้าไม่เหมือนมนุษย์ทั่วไป ก็เป็นรูปงู และแพะ

ส่วนรูปลักษณ์ที่เราคุ้นเคยกันในปัจจุบัน ซึ่งมีหัวเป็นแพะ ผิวหนังหยาบ ตาสีแดง ฟันแหลม มีทรวงอกเป็นแบบผู้หญิง และท่อนล่างเป็นแพะ ถือสามง่ามเป็นอาวุธ




ที่จริงคือมาจากภาพ "Sabbatic Goat" ที่วาดขึ้นโดย Eliphas Lévi ในปี 1856 นี้เอง เพื่อเป็นการแสดงสภาวะคู่ของสรรพสิ่ง (ทวิภาวะ : Dualism) เช่น ความดี-ความชั่ว, ชาย-หญิง

และภาพแบบนี้ก็มักถูกเรียกว่า บาโฟเม็ต (Baphomet) ซึ่งเป็นคำที่เอกสารยุคกลางของยุโรป ใช้เรียกรูปเคารพของลัทธินอกรีตลัทธิหนึ่ง แต่รูปเคารพดังกล่าวนั้น จะมีลักษณะอย่างไรก็ไม่มีการระบุไว้

ทั้ง Sabbatic Goat และคำว่า Baphomet ได้รับความนิยม จนกลายเป็นประติมานวิทยา (Iconography) ของซาตานในที่สุด แม้ว่าจะมีการเสนอรูปแบบอื่นๆ ขึ้นมาบ้าง แต่ก็ไม่ได้รับความสนใจกันแต่อย่างใด

ดังเช่นในภาพนี้ เป็นผลงานของ Maxine Miller  ซึ่งได้รับความนิยมว่า เป็นรูปเคารพของซาตานที่สวยที่สุดในปัจจุบันครับ




ลัทธิบูชาซาตาน (Satanism) ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อไม่ถึงร้อยปีมานี้ ความจริงก็มีทั้งผู้ที่เชื่อว่า ซาตานเป็นเพียงสัญลักษณ์ที่ไม่มีตัวตนอยู่จริง (เป็นอเทวนิยม) และผู้ที่เชื่อในซาตานที่เป็นเทพเจ้าหรือพระเจ้า (เทวนิยม) ซึ่งฝ่ายหลังนี้มีมากกว่า รูปเคารพเช่นนี้จึงเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป

เมื่อพูดถึงลัทธิบูชาซาตาน เราอาจจะคุ้นเคยกันดีนะครับ กับภาพการบูชายัญมนุษย์ในนามของลัทธินี้ โดยเฉพาะในภาพยนตร์ ซึ่งจากสื่อของทางตะวันตกก็เคยลงข่าวคดีฆาตกรรม โดยบอกว่าเป็นการฆ่าเพื่อบูชาซาตานอยู่บ่อยๆ

แต่เรื่องจริงคือ หากการฆาตกรรมดังกล่าวมาจากลัทธิซาตานจริงๆ ก็มักเกิดจากความวิกลจริตส่วนตัวของคนเพียงไม่กี่คน ที่อ้างซาตานอย่างไม่รู้จริงมากกว่า

เพราะซาตานิสต์ของแท้ ไม่ประกอบพิธีบูชายัญมนุษย์แบบจริงๆ จังๆ หรอกครับ




เขาทำกันแต่เพียงในเชิงสัญลักษณ์ คือมีการใช้ดาบ มีด หรือหอกสามง่ามที่ไม่มีคม แทงบนร่างเปลือยของสาวสวย แล้วราดด้วยไวน์แดง หรือเลือดปลอม เท่านั้น

และข้อสำคัญคือ นอกจากข่าวลือที่สื่อมวลชนต่างๆ อ้างแล้ว ยังไม่เคยพบหลักฐานตรงๆ เลยว่า มีการสมคบคิดก่ออาชญากรรมของซาตานิสต์ที่แท้จริง เจอแต่การฆาตกรรมของกลุ่มมั่ว หรือคนบ้าเท่านั้น

แต่สิ่งที่ทำให้คนทั่วไปเชื่อว่า ลัทธิซาตานมีการล้างสมองสาวกให้ฆ่าคนได้จริงๆ นอกจากการชี้นำของสื่อแล้ว ก็มาจากการประกอบพิธีเชิงสัญลักษณ์ดังกล่าวน่ะแหละครับ
         
ที่จิตแพทย์บางส่วนมองว่า อาจจะเป็นแรงจูงใจให้สาวกไปทำการฆาตกรรมจริงๆ ได้

อีกทั้งการที่ซาตานิสต์บางกลุ่ม ยังคงบูชายัญสัตว์ต่างๆ (ฆ่าจริง) สังเวยซาตานในการบูชาประจำปี ซึ่งที่จริงในปัจจุบัน ก็เสื่อมความนิยมไปมากแล้ว

เอกลักษณ์เพียงอย่างเดียว ของพิธีกรรมแบบซาตานิสม์ ที่ยังคงนิยมปฏิบัติกันอยู่ในปัจจุบัน คือ การบูชาด้วยเซ็กซ์

ซาตานิสต์มองว่า เซ็กซ์เป็นพลังวิเศษที่มีความสำคัญ ซึ่งจะต้องกระทำด้วยความสมัครใจ ไม่ใช่ทำเป็นพิธี หรือแค่หวังผลว่าจะได้รับพรวิเศษ มิฉะนั้นเซ็กซ์ในพิธีกรรมนั้นย่อมสูญเปล่า




ดังนั้น ลัทธิซาตานจริงๆ ก็ไม่ถึงกับอันตรายมากนักหรอกครับ

ที่ดูเหมือนว่าอันตราย ก็เพราะถูกใส่ร้ายป้ายสีจากสื่อต่างๆ ภายใต้อิทธิพลของคริสตจักรเท่านั้น

เพราะเหตุปัจจัยสำคัญก็คือ ลัทธินี้เป็นปฏิปักษ์กับคริสตจักร ได้รับการนับถือโดยคนที่ไม่ยอมรับคริสตจักร และคนที่รู้เช่นเห็นชาติของคริสตจักรเป็นอย่างดี

ลัทธิซาตานจึงเจริญเติบโตขึ้นเรื่อยๆ จากกระแสการต่อต้านศาสนาคริสต์ แและศาสนายิวในโลกตะวันตก และตอนนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งในวงการ pagan

ดังมีการบูชาซาตานรวมกับไปรูปเคารพของลัทธิศาสนาอื่น อยู่ในสำนัก pagan บางสำนักด้วยครับ

ส่วน ลูซิเฟอร์ (Lucifer) นั้น เป็นอัครเทวดาอีกองค์หนึ่ง มีพระนามปรากฏเพียงครั้งเดียว ในหนังสืออิสยาห์ บทที่ 14 ข้อที่ 12 คือ הֵילֵל มีความหมายว่า "ผู้ส่องแสง"




เมื่อพระคัมภีร์ไบเบิล บันทึกพระนามนี้ด้วยภาษาละติน ก็รักษาความหมายเดิมไว้ ด้วยการผสมคำว่า Lux ที่หมายถึง แสงสว่าง และ Ferrer ที่หมายถึง ผู้นำมา หรือ ผู้ถือ เข้าด้วยกัน

ทั้งนี้ก็เพราะ ลูซิเฟอร์เป็นอัครเทวดาที่พระเจ้าสร้างขึ้นมาจากแสงสว่างไงครับ เป็นอัครเทวดาที่ยิ่งใหญ่มากที่สุด ณ เวลานั้นเลยก็ว่าได้

แต่ด้วยความหลงในอำนาจ ที่คิดว่าตนเองยิ่งใหญ่เหนือผู้ใด จึงทำให้ลูซิเฟอร์คิดก่อการกบฏต่อพระเจ้า

โดยลูซิเฟอร์ได้ชักจูงอัครเทวดาถึง 2 ใน 3 (หรือบางก็ว่า 3 ใน 5) ของอัครเทวดาทั้งหมด เพื่อทำสงครามกับกองทัพสวรรค์ ซึ่งมี อัครเทวดามิคาเอล (Michael) เป็นแม่ทัพ


Saint Michael expelling Lucifer and The Rebel Angels
by Peter Paul Rubens, 1622

ท้ายที่สุด ลูซิเฟอร์ก็เป็นฝ่ายแพ้ ถูกขับไล่จากสวรรค์ กลายเป็นตัวแทนของบาปแห่งความหยิ่งผยอง และกลายเป็นปีศาจในที่สุด

ในขณะที่บางตำนานของพวก pagan ให้รายละเอียดไว้ว่า หลังจากที่พระเจ้าได้สร้างมนุษย์ขึ้นมาแล้ว ก็ใส่พระทัยดูแลอยู่แต่พวกมนุษย์ ทำให้ลูซิเฟอร์เกิดความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ และเป็นผู้นำในการก่อกบฏดังกล่าว

ซึ่งตำนานของชาวฮีบรูว์ก็ยืนยันว่า การที่ลูซิเฟอร์ได้กระทำเช่นนี้ ก็เพราะถูกยุยงจากซาตานนั่นแหละครับ

แต่ในยุคกลาง นักบุญเจอโรม (St.Jerome) ซึ่งมีอิทธิพลทางความคิดเป็นอันมากในศาสนจักร เห็นว่า ลูซิเฟอร์ ไม่ควรจะเป็นชื่อของปีศาจ จึงได้เปลี่ยนมาใช้เป็นคำว่า ซาตาน แทน

จนในที่สุด ทั้งสองชื่อก็ถูกรวมเป็นคนคนเดียวกัน ดังจะเห็นได้จากในพระคัมภีร์บางเล่ม ที่ชื่อของลูซิเฟอร์และซาตานนั้น ถูกใช้แทนกันเสมอ

ทุกวันนี้ ที่คริสตจักรกำลังเผชิญกับภาวะถดถอย ก็ได้เกิดมีลัทธิใหม่ที่บูชาลูซิเฟอร์เป็นสรณะ คือ ลัทธิลูซิเฟอเรียน (Luciferains)

ลัทธิดังกล่าวนี้ บอกเล่าเรื่องราวก่อนลูซิเฟอร์จะตกสวรรค์ (Before the Fall) เอาไว้ว่า หลังจากที่พระเจ้าสร้างมนุษย์ขึ้น ลูซิเฟอร์ก็เกิดความรักใคร่เอ็นดูในความบริสุทธิ์ของมนุษย์

เมื่อมนุษย์ถูกซาตานล่อลวงให้กินผลไม้แห่งปัญญา และถูกขับไล่ออกจากสวนอีเดน ลูซิเฟอร์จึงรู้สึกโกรธ และก่อกบฏจนถูกขับไล่จากสวรรค์ ครับ, ก็แล้วแต่จะตึความกันไป

แต่การอธิบายอย่างนี้ ก็ทำให้ลัทธิดังกล่าวแพร่ขยายไปได้ไม่น้อย ก่อนจะมีอันเป็นไปคล้ายๆ ลัทธิซาตาน คือ ชาวลัทธิบางสาขาก็หันไปหมกมุ่นกับเซ็กซ์และยาเสพติด

ว่ากันว่า ลูซิเฟอร์มักจะปรากฏตัวในลักษณะที่เป็นมังกรหรือสิงโต แต่ถ้ามีรูปกายอย่างมนุษย์ ก็มักจะเป็นชายหนุ่มที่งดงาม มีปีกนกคู่หนึ่งหรือ 3 คู่

ซึ่ง iconography ที่มีปีกเยอะๆ นี่แหละครับ ที่ผู้ออกแบบตัวละครใน Saint Seiya นำไปใช้เป็นชุดเกราะของ Hades (เกี่ยวกันตรงไหน?)

ส่วนสัญลักษณ์ที่ใช้แทนตัวลูซิเฟอร์ คือ ไม้กางเขนกลับหัว โดยมีตัวเลขแห่งความโชคร้าย หรือ 666 ซึ่งแตกต่างจากเลขแห่งความโชคดีของพระคริสต์ ที่เป็น 333

พูดถึงซาตาน และลูซิเฟอร์แล้ว ถ้าขาด นางพญาลิลิธ (Lilith) ไปก็ไม่สมบูรณ์ละครับ




ในความเชื่อของอารยธรรมสุเมเรีย (Sumeria) ราว 3,500 ปีก่อนคริสตกาล เธอปรากฎในตำนานฐานะนางปีศาจ ลามัซตู (Lamashtu) ซึ่งเป็นผู้คุกคามสตรีมีครรภ์และเด็กทารก

นางปีศาจผู้นี้ ยังมีอีกหลายชื่อ เช่น อาร์ดัท ลิลี (Ardat Lili) หรือ ลีลีตู (Lilitu) เป็นคู่ครองของจอมปิศาจ ลีลู (Lilu)

เธอมักได้รับการบรรยายว่า เป็นหญิงสาวสวยยั่วยวนใจ เร้าความรู้สึกทางเพศ เต็มไปด้วยตัณหาราคะ แต่ปราศจากศีลธรรม เธอจะใช้มารยาล่อลวงชายขณะหลับไหล ทั้งยังชอบสังหารเด็กๆ

ชนชาติทั้งหลายในเมโสโปเตเมีย ต่างพากันหวาดกลัวนางพญาแห่งรัตติกาลผู้นี้กันทั่วไป พวกยิวซึ่งกลัวมากที่สุด ได้นำเรื่องราวของเธอไปปรุงแต่งในชื่อใหม่ว่า ลิลิธ และผูกนิยายว่า พระยาฮ์เวห์ทรงสร้างอดัมและลิลิธขึ้นจากฝุ่นดิน เพื่อให้เป็นสามีภรรยากัน

แต่ต่อมาได้เกิดความไม่ลงรอยกันระหว่างมนุษย์คู่แรก พระเจ้าจึงขับไล่ลิลิธออกจากสวนสวรรค์แห่งอีเดน แล้วมอบให้เป็นของขวัญแก่ซาตาน เธอคือภรรยาคนแรกในจำนวนทั้งหมด 4 คนของจอมปิศาจ จากนั้นก็สร้าง อีฟ ขึ้นมาให้เป็นภรรยาของอดัมแทน

ชื่อและเรื่องราวของลิลิธ อันตรธานไปจากพระคัมภีร์ไบเบิลฉบับพันธสัญญาเดิม แต่ยังสามารถค้นได้ในบันทึกความเชื่อโบราณของชาวยิว ซึ่งได้รับการเปิดเผยเมื่อศตวรรษที่ 13 ทำให้เธอเป็นที่รู้จักในทางสาธารณะอีกครั้งหนึ่ง

และกลายเป็นที่หวาดกลัวของคริสตศาสนิกชนทั่วยุโรปมาตั้งแต่นั้น


The Seduction of Lilith by Boris Vallejo,1979

ลิลิธตามความคิดของคริสตศาสนิกชน ได้ชื่อว่าเป็นราชินี และมารดาแห่งปีศาจทั้งปวง เธอยังนับว่าเป็นต้นกำเนิดของ แวมไพร์ (Vampire) เพราะว่ากันว่า ลิลิธนั้นจะชอบฝังคมเขี้ยวลงบนลำคอของมนุษย์ เพื่อดูดกินเลือดเป็นภักษาหารนั่นเองครับ

ปัจจุบัน ลัทธิบูชานางพญาลิลิธ มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับลัทธิบูชาซาตาน เธอได้รับการบรรยายว่า เป็นสตรีสาวสวยน่าลุ่มหลง เปลือย หรือแต่งกายด้วยอาภรณ์น้อยชิ้น เบื้องหลังของเธอมีปีกค้างคาว หรือปีกค้างคาวที่มีขนแบบนกสีดำ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของปีศาจ และเวลากลางคืน


Lilith by Ruis Royo

ที่น่าสนใจก็คือ นางพญาลิลิธแม้จะน่าสะพรึงกลัว แต่ผู้บูชาก็ยืนยันว่า เธอก็เหมือนพระแม่กาลีที่พวกเรารู้จักละครับ

คือแม้จะดุร้าย แต่ก็ใจนักเลง และปกป้องคุ้มครอง ตลอดจนประทานพรให้ผู้บูชาสมปรารถนาในเรื่องเซ็กซ์ได้ดีมาก

อย่างไรก็ตาม รูปเคารพและเครื่องรางของนางพญาลิลิธ ที่ผ่านมานับว่าพบเห็นได้ยาก เพราะเป็นของที่บูชากันภายในลัทธิซาตาน

เมื่อภาพของประติมากรรมดินเผาสมัยบาบิโลเนียน (Babylonian) ชิ้นหนึ่ง ซึ่งได้รับการตั้งชื่อตามผู้ค้นพบว่า Burney Relief เผยแพร่สู่สาธารณะ โดยมีประติมานวิทยาที่โดดเด่น คือ เป็นรูปสาวเปลือย มีปีกนกสองข้าง รวมทั้งขาทั้งสองมีขนเต็มไปหมด (ซึ่งในส่วนนี้ตรงกับเรื่องเล่าเกี่ยวกับลิลิธ)

รูปเคารพนี้ก็ถูกเล่าขานกันทันที ว่าเป็นภาพของนางพญาลิลิธ


Burney Relief

ซึ่งเป็น ลัทธิการเดา ครับ ไม่ใช่มติของนักวิชาการ

1. ฝรั่งที่เผยแพร่ข้อมูลกันทั่วไปว่า ประติมากรรมดินเผาชิ้นนี้ เป็นรูปของลิลิธ ก็คือ ฝรั่งที่ไม่ update ข้อมูลครับ

เพราะแท้จริงแล้ว นี่คือประติมากรรมเทวรูปของ มหาเทวีอินันนา (Inanna) พระแม่เจ้าสูงสุดแห่งลัทธิศาสนาสุเมเรียน (Sumerian) 

และที่ว่าเป็นรูปของ นางพญาลิลิธ นั้น เว็บไซต์ทางโบราณคดีมาตรฐาน อย่าง http://www.ancient-origin.net ก็ได้ระบุไว้อย่างชัดเจน ในคำบรรยายภาพประติมากรรมชิ้นนี้ว่า

Burney Relief, Babylon (1800-1750 BCE). Some scholars (e.g. Emil Kraeling) identified the figure in the relief with Lilith, based on a misreading of an outdated translation of the Epic of Gilgamesh. ( CC BY-SA 3.0 )


ภาพจาก http://www.ancient-origin.net

ก็คือ เป็นความเข้าใจผิดของนักวิชาการในยุคแรกๆ ที่เกิดจากการอ่าน-แปล มหากาพย์กิลกาเมช (Epic of Gilgamesh) แบบผิดๆ นั่นแหละครับ

และรูปนกเค้าแมวคู่นั้น จริงๆ แล้วเป็นประติมานวิทยา หรือ iconography ที่บ่งบอกพระนามของมหาเทวีอินันนาด้วย

2. คนที่ศึกษาเทววิทยาจริงๆ เขารู้กันหมดแล้ว ว่า มหาเทวีอินันนา กับนางพญาลิลิธ เป็นคนละคนกัน

เพราะทั้งสองปรากฏในหลักฐานชุดเดียวกัน ในเหตุการณ์เดียวกัน

ดังในตำนานเรื่อง Inanna and the Huluppu Tree บรรยายว่า ต้นไม้ชื่อ Huluppu ซึ่งมหาเทวีอินันนาทรงปลูกนั้น :

…three creatures settled in the tree: in its roots "a snake which fears no spell"; in its trunk a lilitu, a female spirit; and in its branches the Anzu bird; 

ซึ่ง a lilitu, a female spirit นี่แหละครับ ก็คือบุคลิกภาพดั้งเดิมที่สุด ของนางพญาลิลิธ ที่ปรากฏในตำนานของมหาเทวีอินันนา

พระแม่เจ้าสูงสุด กับปีศาจราคะที่ปรากฏพร้อมกัน ในเหตุการณ์เดียวกัน จะบอกว่าเป็นเทพองค์เดียวกันได้อย่างไร?

มองแค่นี้ก็เป็นไปไม่ได้แล้วละครับ

3. แม้จะมีการกล่าวอ้างว่า ชาวยิวได้นำคุณสมบัติของมหาเทวีอินันนา ซึ่งต่อมาคือ พระเทวีอิชตาร์ (Ishtar) แห่งบาบิโลเนีย (Babylonia) มาใส่ให้ลิลิธ

ถ้าคำกล่าวอ้างนี้เป็นจริง มันก็เป็นแค่ความเชื่อยุคหลัง ไม่สามารถจะนำมายืนยันให้เป็นเทพองค์เดียวกันได้หรอกครับ

เพราะในเมื่อชาวบาบิโลน ซึ่งเป็นผู้บูชาพระเทวีอินันนา-อิชตาร์ มิได้ระบุว่า ทรงเป็นเทพองค์เดียวกับลิลิธ

แล้วเรามีเหตุผลอะไร? ที่เลือกเชื่อเฉพาะชาวยิว (ที่ไม่บูชาพระเทวีอินันนา-อิชตาร์) ว่าเป็นองค์เดียวกับลิลิธ

origin เขาว่าอย่างไร ไม่เชื่อ จะเชื่อแต่คนที่ไม่รู้เรื่อง แล้วมาพูดทีหลังเนี่ยนะครับ!?!

แต่เหตุผลทั้ง 3 ข้อนี้ ไม่แพร่หลายสู่การรับรู้ของสาธารณชน ก็เพราะเป็นเรื่องวิชาการ

วิชาการโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับโบราณคดี ที่ไหนในโลกก็เหมือนกันครับ คือไม่ค่อยมีการเผยแพร่ให้เป็นที่รับรู้กันในวงกว้าง ต้องคนที่สนใจจริงๆ ไปค้นถึงจะเจอ

หรือบางพวก รู้แล้ว แต่ก็ไม่ยอมรับ เพราะก้มหน้าก้มตาเชื่อไปแล้วว่า รูปเคารพของมหาเทวีอินันนานั้นคือ ลิลิธ จนยากที่จะเปลี่ยนความเชื่อได้

ก็ขนาดศิลปินชาวตะวันตกที่มีชื่อเสียง อย่าง Paul Borda ยังนำรูปลักษณ์ของมหาเทวีอินันนา มาสร้างเป็นประติมากรรมของ นางพญาลิลิธ ออกจำหน่ายเลยครับ ทำให้ความเชื่อผิดๆ ดังกล่าว คงอยู่มาจนทุกวันนี้


Lilith by Milosh Meehan

โชคดีครับ ที่ยังมีศิลปินฝรั่งยุคใหม่ เช่น Milosh Meehan สร้างสรรค์งานประติมากรรมของ นางพญาลิลิธ ที่ถูกต้องขึ้นมาอย่างสวยงาม ดังที่ผมนำภาพมาประกอบบทความนี้แล้ว

ซึ่งถ้าได้รับความนิยม จนมีการนำไปดัดแปลงสร้างรูปเคารพกันอย่างจริงจังเมื่อไหร่ ไม่ว่าคนที่ยังคงเกลียดชังพระนาง ด้วยเหตุผลทางศาสนา หรือคนที่สนใจเรื่องราวของพระนาง ก็จะได้เลิกเสีัยเวลากับข้อมูลเชยๆ ซะที




……………………………


หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด