ตามสัญญานะครับ
ผมจะทยอยเล่าเรื่องตำนานที่สำคัญของชาวนอร์ส
ซึ่งตำนานหนึ่งที่ชาวอาซาทรูเออร์คนไหนไม่รู้ถือว่า out
อย่างแรง นั่นคือ (Beowulf) ขุนศึกโค่นอสูร
เบวูล์ฟ
เป็นบทกวีมหากาพย์ที่แต่งด้วยภาษาอังกฤษ
แต่เล่าเรื่องราวของวีรบุรุษที่เกิดขึ้นในสแกนดิเนเวีย
ไม่ปรากฏชื่อของผู้แต่งว่าเป็นใคร
แต่จากรูปแบบของบทกวีและเนื้อหา ทำให้คาดได้ว่าเป็นบทลำนำพื้นบ้าน ที่ขับร้องต่อ ๆ
กันมาในหมู่ชนพื้นเมือง
และน่าจะมีข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์บางส่วนแฝงอยู่ในเนื้อเรื่องด้วย
งานวรรณกรรมภาษาแองโกลแซกซอนชิ้นนี้
คาดว่าแต่งขึ้นในระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 8-11
โดยมีต้นฉบับที่หลงเหลือมาถึงปัจจุบัน ซึ่งสันนิษฐานว่า เขียนขึ้นในราวปี ค.ศ.1010 มีความยาวทั้งสิ้น 3,183 บรรทัด
ซึ่งถือเป็นบทกวีที่มีความยาวมาก
ได้รับยกย่องเป็นวรรณกรรมมหากาพย์แห่งอังกฤษ
เนื้อหาในบทกวี
เล่าถึงวีรบุรุษชาวกีตส์ (Geats) คนหนึ่งชื่อ เบวูล์ฟ
และการสู้รบกับศัตรูทั้งสามของเขา คือ เกรนเดล (Grendel) มารดาของเกรนเดล และมังกร
หลายๆ คนอาจจะงงว่า
ทำไมเขียน Beowulf แต่ออกเสียงว่าเบวูล์ฟ จริงๆ
แล้วคืออย่างงี้ครับ ชื่อของวีรบุรุษท่านนี้ต้องออกเสียงว่า เบ-เออ-วูล์ฟ แต่สระ eo
ถือว่าเป็นสระควบ การออกเสียงจึงมักออกเพียงสองพยางค์
และเน้นน้ำหนักที่คำแรก เป็น "เบวูล์ฟ"
บทกวีเบวูล์ฟ เริ่มต้นด้วยเรื่องราวของกษัตริย์
ร็อธการ์ (Hroðgar) ผู้สร้างหอเมรัยขนาดใหญ่ชื่อ
เฮร็อต (Heorot) สำหรับเป็นสโมสรของพลเมือง
ทั้งองค์กษัตริย์ พระชายา และบรรดานักรบต่างพากันเฉลิมฉลองอยู่ในหอเมรัยนั้น
จนกระทั่งเกรนเดลผู้ถูกขับจากชุมชนทนไม่ไหว และเข้ามาบุกทำลายหอเมรัย
สังหารนักรบของร็อธการ์ระหว่างหลับเสียชีวิตไปมาก
แต่เกรนเดลกลับไม่กล้าแตะต้องบัลลังก์แห่งร็อธการ์
ด้วยว่าองค์กษัตริย์นั้นได้รับการพิทักษ์จากเทพเจ้า แต่ถึงกระนั้น
ร็อธการ์กับพลเมืองของพระองค์ก็จำต้องละทิ้งเฮร็อตเสีย
และเมื่อไม่มีนักรบเหลืออยู่พอจะต่อกรกับเกรนเดลได้
เมื่อร็อธการ์ได้ยินชื่อเสียงของ เบวูล์ฟ นักรบหนุ่มชาวกีตส์
จึงส่งสาส์นเชิญไปขอความช่วยเหลือจากเขา
เบวูล์ฟกับเพื่อนนักรบของเขาเดินทางออกจาก
กีตส์ลันด์ (Geatsland : ปัจจุบันคือ Götaland
อยู่ในสวีเดน) แผ่นดินของตนมาถึงเมืองของกษัตริย์ร็อธการ์ พวกเขาค้างคืนในเฮร็อต
หลังจากพวกเขาหลับไป เกรนเดลก็เข้ามาโจมตี และสังหารคนของเบวูล์ฟไปคนหนึ่ง
ส่วนเบวูล์ฟนั้นแสร้งหลับอยู่
จึงลุกขึ้นจับแขนของเกรนเดลไว้
ทั้งสองต่อสู้กันอย่างหนักหน่วงจนหอเมรัยแทบถล่มทลาย เพื่อนนักรบคนอื่นๆ
ตกใจลุกขึ้น และเข้าไปช่วยเหลือ แต่ดาบของพวกเขาไม่อาจทำร้ายเกรนเดลได้เลย
เพราะมันลงอาคมใส่ดาบของพวกมนุษย์ไว้ ดาบของเบวูล์ฟก็เช่นกันครับ
ในที่สุด
เบวูล์ฟจึงใช้พละกำลังของเขาล็อคตัวเกรนเดล แล้วฉีกแขนของมันขาดจนถึงหัวไหล่
ก่อนกระชากจนหลุดออกจากร่าง เกรนเดลหนีกลับไปยังรังของมันได้ แต่ก็ตายในที่สุด
คืนต่อมา
มีการเฉลิมฉลองใหญ่ที่เบวูล์ฟสังหารเกรนเดลได้
จากนั้นร็อธการ์กับคนของพระองค์ก็นอนในเฮร็อต แต่แล้ว มารดาของเกรนเดลปรากฏตัวขึ้นและเข้ามาทำลายหอเมรัยอีก
นางสังหารนักรบฝีมือดีของร็อธการ์ที่เหลืออยู่ไปทั้งหมด เพื่อแก้แค้นให้เกรนเดล
ร็อธการ์ เบวูล์ฟ
และเหล่านักรบ
สะกดรอยตามมารดาของเกรนเดลไปจนถึงรังของนางซึ่งอยู่ใต้ทะเลสาบประหลาดแห่งหนึ่ง
เบวูล์ฟเตรียมตัวเข้าไปรบกับนาง เขาได้รับดาบวิเศษเล่มหนึ่งจากนักรบคนหนึ่ง
ดาบนั้นมีชื่อว่า รุนทิง (Hrunting) หลังจากต่อรองผลประโยชน์ตอบแทน
และพินัยกรรมของเบวูล์ฟแล้ว เขาจึงดำน้ำลงไปใต้ทะเลสาบนั้น
เมื่อล่วงล้ำเข้าไป
เขาก็ถูกมารดาของเกรนเดลโจมตีทันที แต่นางไม่สามารถทำอันตรายแก่เบวูล์ฟได้
เพราะเขาสวมเกราะอยู่ นางลากตัวเบวูล์ฟลงไปยังถ้ำที่ก้นทะเลสาบ
ที่ซึ่งร่างของเกรนเดลและเหล่านักรบที่ปีศาจทั้งสองสังหารไปนอนแน่นิ่งอยู่ แล้วทั้งสองก็ต่อสู้กันอย่างหนัก
ในช่วงแรก
มารดาของเกรนเดลเป็นฝ่ายได้เปรียบ
เบวูล์ฟพบว่าดาบรุนทิงของเขาไม่สามารถทำอันตรายต่อนางได้เลย
เขาจึงหันไปหยิบดาบขนาดใหญ่ในหมู่สรรพาวุธที่สะสมอยู่ในถ้ำ
ซึ่งไม่เคยมีผู้ใดสามารถยกดาบนั้นขึ้นได้มาก่อน และตัดศีรษะนางด้วยดาบเล่มนั้น
เบวูล์ฟสำรวจลึกเข้าไปในถ้ำจนพบร่างของเกรนเดล
ก็ตัดเอาศีรษะมันมาด้วย เขาเดินทางกลับออกมาสู่ผิวน้ำอีกครั้ง
และเดินทางกลับไปยังเฮร็อต ร็อธการ์พระราชทานของขวัญให้แก่เขามากมาย รวมทั้งดาบ เนกลิง
(Nægling)
ซึ่งเป็นมรดกประจำตระกูลของพระองค์ นักรบหนุ่มจากกีตส์ลันด์ได้รับทั้งชื่อเสียง
และความมั่งคั่งเป็นอันมากจากวีรกรรมครั้งนี้ละครับ
เมื่อเบวูล์ฟเดินทางกลับบ้านได้ไม่นาน
เขาก็ได้เป็นกษัตริย์พระองค์ใหม่แห่งกีตส์ลันด์ จนวันหนึ่งเมื่อทรงชราภาพ
ทาสคนหนึ่งลอบขโมยถ้วยทองคำออกมาจากรังมังกรที่ไม่ปรากฏชื่อตัวหนึ่ง เมื่อมังกรรู้ตัวว่าถ้วยทองคำถูกขโมยไป
ก็ออกตามหาด้วยความโกรธแค้น และเผาทุกสิ่งทุกอย่างที่ขวางหน้า
เบวูล์ฟทรงเรียกประชุมเหล่านักรบของพระองค์ ให้ร่วมกันต่อสู้กับมังกร
แต่ปรากฏว่ามีเพียงนักรบหนุ่มชื่อ วิกลัฟ (Viglaf) เพียงคนเดียว ที่กล้าออกไปร่วมรบเคียงไหล่กับพระราชาเฒ่า
เพราะคนที่เหลือพากันหวาดกลัวกันหมดครับ
ก็มนุษย์ธรรมดาที่ไหนจะหาญกล้าต่อสู้กับมังกรที่ออกมาจากถ้ำแล้วล่ะ
แต่กษัตริย์เบวูล์ฟแม้จะเข้าสู่ปัจฉิมวัยแล้ว
ก็ยังไม่ทิ้งลายยอดนักรบ พระองค์สามารถสังหารมังกรได้ด้วยความช่วยเหลือของวิกลัฟ
แต่พระองค์เองก็ทรงได้รับบาดเจ็บสาหัสจนสิ้นพระชนม์
หลังจากพิธีถวายพระเพลิงพระศพแล้ว
เบวูล์ฟถูกฝังอยู่ในกีตส์ลันด์ เหนือหน้าผาที่มองออกไปสู่ท้องทะเล
ซึ่งเหล่านักเดินเรือสามารถมองเห็นสุสานของพระองค์ได้
ส่วนสมบัติของมังกรนั้นเล่ากันว่าถูกฝังไปพร้อมกับพระองค์ด้วย
มิได้นำออกแจกจ่ายพลเมือง เพราะมันมีคำสาปอยู่น่ะสิครับ
อีกทั้งก็ถือว่าเป็นประเพณีของชาวเยอรมันและสแกนดิเนเวีย
ในการฝังทรัพย์สมบัติไปพร้อมกับผู้ตายอยู่แล้ว
ครับ, ตำนานเบวูลฟ์จริงๆ มีเท่านี้ (ผมลอกเนื้อหาหลักๆ มาจาก Wikipedia) ซึ่งถ้าว่ากันตามนี้ เบวูลฟ์ก็เป็นวีรบุรุษที่ไม่มีข้อเสียอะไรครับ
จัดว่าเป็นบุคคลในอุดมคติของชาวนอร์สทั้งมวล
แต่เวลานำมาสร้างเป็นหนัง
ส่วนใหญ่จะมีการนำเสนอว่าเบวูลฟ์กระทำสิ่งที่ผิดพลาดครั้งใหญ่ในชีวิต
โดยที่ไม่มีใครล่วงรู้ นั่นคือ เขาเผลอใจ (หรือไม่ก็ถูกมนต์สะกด) จนมีสัมพันธ์สวาทกับมารดาของเกรนเดล หรือบางเรื่องก็ไปมีสัมพันธ์สวาทกับแม่มดสาว
ซึ่งเป็นภรรยาลับของเกรนเดล
ก็อย่างที่เห็นกันในหนังที่เกี่ยวกับเบวูลฟ์ทั้งสองเรื่อง ที่ผมเขียนถึงไปแล้วในบทความก่อนหน้านี้ละครับ
ซึ่งในส่วนนี้ก็มาจากมุขปาฐะ
หรือเรื่องเล่าพื้นบ้านเช่นกัน
เป็นธรรมดาครับที่ตำนานวีรบุรุษไม่ว่าของชนชาติไหนมักจะมีด้านลบแอบแฝงอยู่ด้วยเสมอ
ก็เพราะปากชาวบ้านประเภทแอนตี้ฮีโร่นี่ละครับ ยิ่งถ้าฮีโร่ได้ดิบได้ดีเป็นกษัตริย์
ยิ่งมีด้านมืดให้เล่าขานกันเพียบ
……………………………
หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้ มีลิขสิทธิ์ ใครจะนำไปใช้อ้างอิงที่ใด ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด จะต้องระบุ URL ของแต่ละบทความด้วย และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้าโดยเด็ดขาด